คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3827/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารอ.สาขาสุขุมวิท จะอยู่ในเขตท้องที่พญาไทหรือไม่ และการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทจะมีเขตอำนาจสอบสวนกินแดนไปถึงไหนนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น จะมายกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ฯ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับ ศาลย่อมลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จะถือว่าศาลลงโทษเกินคำขอหาได้ไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้อ้างบทมาตรา เกี่ยวกับวิธีการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ (ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองสำนวนมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ลงโทษจำคุกสำนวนแรก 11 เดือน ส่วนสำนวนที่สองซึ่งจำเลยออกเช็ค 2 ฉบับนั้นให้ลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าการร้องทุกข์และการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบ เพราะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทไม่มีอำนาจสอบสวนนั้น ปรากฏว่าสำนวนแรกโจทก์ร่วมร้องทุกข์ที่กองปราบปราม เฉพาะสำนวนหลังเท่านั้นที่โจทก์ร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ทั้งนี้ ปรากฏตามบันทึกมอบคดีหมาย จ.11 และ จ.16 เหตุที่จำเลยอ้างว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไทไม่มีอำนาจสอบสวนก็โดยอ้างว่าธนาคารเอเซียทรัสต์ จำกัด สาขาสุขุมวิท ซึ่งเป็นธนาคารที่จำเลยสั่งจ่ายไม่ได้อยู่ในท้องที่เขตพญาไท ศาลฎีกาเห็นว่าธนาคารเอเซียทรัสต์ จำกัด สาขาสุขุมวิท จะอยู่ในเขตท้องที่พญาไทหรือไม่ และการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท จะมีเขตอำนาจสอบสวนกินแดนไปถึงแค่ไหนนั้นล้วนเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น จะยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นฎีกาหาได้ไม่ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195, 225

ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลล่างลงโทษจำเลยทุกกรรมเรียงกระทงความผิดไปตามเช็คแต่ละฉบับ เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำคนละกรรมกันอยู่แล้ว ส่วนสำนวนหลังโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องมาแจ้งชัดอยู่แล้วว่า จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ เมื่อปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามเช็คแต่ละฉบับเช่นนี้ ศาลย่อมต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จะถือว่าศาลลงโทษเกินคำขอได้ไม่ประมวฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) เพียงแต่บัญญัติให้โจทก์อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเท่านั้น หาได้บัญญัติให้จำเลยต้องอ้างถึงบทมาตราเกี่ยวกับวิธีการลงโทษหลายกรรมด้วยไม่ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share