คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4846/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 เป็นสัญญาซึ่งบุคคล 2 คน ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้นตามบัญชีหนี้ที่ได้จัดทำขึ้น บุคคลทั้งสองดังกล่าวต่างฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน หากฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้หรือเป็นลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียวแม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยเป็นเพียงบัญชีที่จำเลยยอมให้โจทก์หักชำระหนี้ตามบัตรเครดิตที่โจทก์จ่ายทดรองไปก่อนเท่านั้น มิใช่บัญชีหักทอนหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างบัญชีเดินสะพัด เพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียวหาได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์ด้วยไม่ การคิดบัญชีหนี้สินกันตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่การตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยแม้ตามคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์จะมีข้อความว่า จำเลยตกลงให้บัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 ก็ไม่ทำให้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นกลายเป็นบัญชีเดินสะพัดไปได้
แม้สัญญาการใช้บัตรเครดิตจะระบุว่า หากในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยปรากฏยอดเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีได้และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ เป็นข้อสัญญาที่โจทก์เป็นฝ่ายกำหนดขึ้นเองและพิมพ์อยู่ในแบบพิมพ์สำเร็จรูปของโจทก์มาแต่ต้น มิใช่ข้อสัญญาที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างจริงจังและตามสัญญาดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์และจำเลยมิได้มีหน้าที่ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ และมิได้มีข้อสัญญาให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็ค แม้จำเลยจะยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ก็ไม่ทำให้สัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวกลายเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีไปได้
จำเลยให้การว่า โจทก์อาจจะได้ใช้เล่ห์ฉ้อฉลแสดงตัวเลขจำนวนเงินเกินความเป็นจริงอย่างมากมายจนอาจถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นผู้หลงเชื่อเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างร้ายแรงอาจเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของพนักงานธนาคารผู้ทุจริต จำเลยมิได้ยืนยันให้การโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น จึงไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบตามข้อต่อสู้ดังกล่าวเท่ากับไม่มีข้ออ้างหรือข้อเถียงเป็นประเด็นข้อพิพาท
จำเลยมิได้ยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแม้จำเลยจะขออนุญาตเบิกความเพิ่มเติมต่อศาลว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้น เพราะเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่ให้การถือไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องอายุความเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2532 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตโพธิ์ทอง และขอให้ออกบัตรเสริมให้นางสาวจิรายุ สุวัณณาคาร บุตรจำเลยเพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ แทนเงินสดแก่ร้านค้าหรือสถานที่ให้บริการหรือสำนักงานที่เป็นสมาชิกของโจทก์หรือใช้เบิกเงินสด ณ ธนาคารโจทก์และธนาคารอื่นที่เป็นสมาชิกร่วมกับโจทก์ จำเลยขอให้โจทก์ออกเงินชำระหนี้แทนไปก่อนและจำเลยยินยอมให้โจทก์หักชำระจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 001-2-37252-4 โดยให้ถือว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นบัญชีเดินสะพัดหากเงินในบัญชีมีไม่พอจ่าย ทำให้บัญชีเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชี ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดตามประเพณีการค้าของธนาคารพาณิชย์ในอัตราสูงสุดที่เรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2533 จำเลยกับนางสาวจิรายุ สุวัณณาคาร ได้สมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าอีกประเภทหนึ่งโดยจำเลยยินยอมให้โจทก์หักชำระเงินที่ออกแทนไปก่อนจากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 001-3-23398-5 จำเลยและนางสาวจิรายุได้นำบัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าไปซื้อสินค้าและใช้บริการแทนเงินสดและเบิกเงินสดหลายครั้งซึ่งโจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินแทนและหักทอนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเรื่อยมา คิดถึงวันที่ 30 กันยายน 2538 มียอดหนี้ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองเป็นเงิน 331,647.45 บาท และหนี้ตามบัตรเครดิตวีซ่าอีกเป็นเงิน 227,529.55 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 559,177 บาทโจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 คิดถึงวันฟ้องจำเลยยังเป็นหนี้ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าอยู่เป็นเงินรวม575,201.31 บาท กับดอกเบี้ยอีกเป็นเงิน 27,909.07 บาทรวมเป็นเงิน 603,110.38 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน603,110.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 575,201.31 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การรับว่า จำเลยเป็นสมาชิกการใช้บัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าของโจทก์จริง แต่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นท่วมต้นเงินหลายเท่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อาจจะได้ใช้เล่ห์ฉ้อฉลแสดงตัวเลขจำนวนเงินเกินความเป็นจริงอย่างมากมายจนอาจถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นผู้หลงเชื่อเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างร้ายแรง อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของพนักงานธนาคารผู้ทุจริต

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 603,110.38 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 575,201.31บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินตามหนี้บัตรเครดิตโพธิ์ทอง จำนวน 103,818.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2535และจำนวน 75,081.60 บาท นับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2535ถึงวันที่ 26 กันยายน 2536 และตามหนี้บัตรเครดิตวีซ่าจำนวน59,439.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 17.5ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มีนาคม 2535 จำนวน 57,311.20 บาทนับแต่วันที่ 7 เมษายน 2535 และจำนวน 5,000 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2535 กับดอกเบี้ยของต้นเงินสำหรับหนี้ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าดังกล่าวรวมกันจำนวน 300,651.10 บาท ในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 27 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ร้อยละ18.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม2538 ร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2538 ถึงวันที่ 3ตุลาคม 2538 ร้อยละ 19.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2538ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2538 และร้อยละ 19.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8ธันวาคม 2538 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาในข้อกฎหมายของโจทก์ว่า หนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าเป็นหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238ว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2532 จำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกขอใช้บัตรเครดิตโพธิ์ทองและขอให้ออกบัตรเสริมให้นางสาวจิรายุ สุวัณณาคารบุตรจำเลยเพื่อชำระค่าสินค้าและค่าบริการแทนเงินสดและเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าโดยให้โจทก์หักชำระหนี้จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 001-2-37252-4 และวันที่ 31 มกราคม 2533 จำเลยและนางสาวจิรายุได้สมัครเป็นสมาชิกขอใช้บัตรเครดิตวีซ่าเพื่อชำระค่าสินค้าและค่าบริการแทนเงินสดและเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าอีกโดยให้โจทก์หักชำระหนี้จากบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 001-3-23398-5จำเลยและนางสาวจิรายุได้ใช้บัตรเครดิตของโจทก์เบิกถอนเงินสดล่วงหน้าและซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการสำหรับบัตรเครดิตโพธิ์ทองตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 001-2-37252-4 ในวันที่ 7เมษายน 2535 จำนวน 103,818.70 บาท และวันที่ 6 พฤษภาคม2535 จำนวน 75,081.60 บาท และสำหรับบัตรเครดิตวีซ่าตามบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 001-3-23398-5 ในวันที่ 6 มีนาคม 2535จำนวน 59,439.60 บาท วันที่ 7 เมษายน 2535 จำนวน 57,311.20บาท และวันที่ 6 สิงหาคม 2535 จำนวน 5,000 บาท จำนวนหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องส่วนที่เกินไปจากนี้ล้วนเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีหนี้ที่จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินเกินบัญชีแต่อย่างใดเห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาซึ่งบุคคล 2 คน ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างบุคคลทั้งสองนั้นตามบัญชีหนี้ที่ได้จัดทำขึ้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 856 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แสดงว่าบุคคลทั้งสองดังกล่าวต่างฝ่ายต่างต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน หากฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้หรือเป็นลูกหนี้แต่ฝ่ายเดียว แม้จะมีบัญชีคิดหนี้สินกัน สัญญานั้นก็หาเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ ข้อเท็จจริงที่ยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าจำเลยและนางสาวจิรายุบุตรจำเลยขอใช้บัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าของโจทก์เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆแทนเงินสดเป็นสำคัญโดยโจทก์ออกเงินชำระหนี้แทนไปก่อนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เลขที่ 001-2-37252-4 เป็นเพียงบัญชีเงินฝากที่จำเลยยอมให้โจทก์หักชำระหนี้ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองที่โจทก์จ่ายทดรองไปก่อนเท่านั้น หาใช่บัญชีหักทอนหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างบัญชีเดินสะพัดไม่ เพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียว หาได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์ด้วยแต่อย่างใดไม่ การคิดบัญชีหนี้สินกันตามบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่การตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ตามคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จะมีข้อความว่าจำเลยตกลงให้บัญชีออมทรัพย์ดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856ก็ไม่ทำให้บัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นกลายเป็นบัญชีเดินสะพัดไปได้ ส่วนบัญชีเดินสะพัดเลขที่ 001-3-23398-5 ที่จำเลยยอมให้โจทก์หักชำระหนี้ตามบัตรเครดิตวีซ่าที่โจทก์จ่ายทดรองไปก่อนก็มีลักษณะเช่นเดียวกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าว กล่าวคือ มิใช่บัญชีหักทอนหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างบัญชีเดินสะพัดเพราะจำเลยมีแต่เป็นลูกหนี้โจทก์ฝ่ายเดียว หาได้เป็นเจ้าหนี้ด้วยไม่ แม้ตามคำขอสินเชื่อบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 บัญชีดังกล่าวจะเรียกว่าบัญชีเดินสะพัดก็เป็นบัญชีเดินสะพัดเฉพาะแต่ชื่อเพราะการคิดบัญชีหนี้สินกันตามบัญชีดังกล่าวมิได้มีการตัดทอนบัญชีหนี้หรือหักกลบลบหนี้กันอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างโจทก์กับจำเลยแต่อย่างใด และแม้สัญญาการใช้บัตรเครดิตทั้งสองบัตรดังกล่าวจะระบุว่าหากในบัญชีเดินสะพัดของจำเลยปรากฏยอดเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว จำเลยยินยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีได้และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดได้ดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม ก็ล้วนเป็นข้อสัญญาที่โจทก์เป็นฝ่ายกำหนดขึ้นเองและพิมพ์อยู่ในแบบพิมพ์สำเร็จรูปของโจทก์มาแต่ต้นและโจทก์เข้าใจเช่นนั้นไปเองทั้งสิ้น มิใช่ข้อสัญญาที่เกิดจากการเจรจาต่อรองระหว่างโจทก์กับจำเลยอย่างจริงจัง สัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยแต่ฝ่ายเดียว จำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้โจทก์มิได้มีหน้าที่ต้องนำเงินฝากเข้าบัญชีก่อนซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการและมิได้มีข้อสัญญาให้จำเลยถอนเงินเกินบัญชีด้วยเช็คแต่อย่างใดแม้จำเลยจะยอมให้โจทก์ถือว่าเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีก็ไม่ทำให้สัญญาการใช้บัตรเครดิตดังกล่าวกลายเป็นการเบิกเงินเกินบัญชีไปได้ดังที่โจทก์เข้าใจ หนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามบัตรเครดิตโพธิ์ทองและบัตรเครดิตวีซ่าจึงมิใช่หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยตามบทบัญญัติมาตรา 655 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้แบบไม่ทบต้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามหนี้บัตรเครดิตวีซ่าจำนวน5,000 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 26 กันยายน2535 นั้นไม่ถูกต้องที่ถูกเป็นนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2536 ดังที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่าได้มีการฉ้อฉลทำรายการเพิ่มต้นเงินในใบแจ้งหนี้ของโจทก์โดยไม่สุจริตหรือไม่ ข้อนี้จำเลยให้การว่าโจทก์อาจจะได้ใช้เล่ห์ฉ้อฉลแสดงตัวเลขจำนวนเงินเกินความเป็นจริงอย่างมากมายจนอาจถือได้ว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นผู้หลงเชื่อเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างร้ายแรง อาจเป็นไปได้หรือไม่ที่จำเลยได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของพนักงานธนาคารผู้ทุจริต เห็นได้ว่า คำให้การของจำเลยดังกล่าวจำเลยมิได้ยืนยันให้การต่อสู้คดีในประเด็นดังกล่าวโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น จำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบตามข้อต่อสู้ดังกล่าวเท่ากับไม่มีข้ออ้างหรือข้อเถียงเป็นประเด็นข้อพิพาทตามที่จำเลยฎีกา ข้อฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ชอบที่ศาลฎีกาจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เห็นว่า ประเด็นเรื่องอายุความนั้นจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การฉะนั้น แม้จำเลยจะขออนุญาตเบิกความเพิ่มเติมต่อศาลว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ก็ไม่ทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้นเพราะเป็นการนำสืบนอกประเด็นที่ให้การ ถือไม่ได้ว่าปัญหาเรื่องอายุความเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงชอบแล้ว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินตามหนี้บัตรเครดิตวีซ่าจำนวน 5,000 บาท นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 26 กันยายน2536 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share