คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9663/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคาร แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของผู้เสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าจำเลยยักยอกเงินผู้เสียหาย แต่ฟังได้ว่าจำเลยฉ้อโกงธนาคารจึงเป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง ถือเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 352, 91 ขอให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินจำนวน 940,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265), 352 วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 กระทงแรกฐานยักยอก จำคุก 1 ปี กระทงที่สองฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและฐานยักยอกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 940,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดกระทงที่สอง จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงบทเดียวโดยให้ยกฟ้องฐานยักยอกทรัพย์ ให้จำเลยคืนเงิน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยรองอัยการสูงสุด รักษาการแทนอัยการสูงสุดรับรองว่ามีเหตุอันควรให้ศาลฎีกาวินิจฉัย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่นำสืบรับกันและตามคำพิพากษาศาลล่างส่วนที่ไม่มีผู้โต้แย้งฟังได้ว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นเหรัญญิก ของมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 จำเลยยักยอกเงิน 450,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2548 จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก แล้วนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปถอนเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก และเบียดบังเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของจำเลย สำหรับความผิดฐานยักยอกเงิน 450,000 บาท ในกระทงแรก ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความมิได้ฎีกา จึงยุติแล้ว ส่วนความผิดกระทงที่สอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอก อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนัก แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมเพียงบทเดียว จึงยกฟ้องความผิดฐานยักยอก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การกระทำความผิดของจำเลยในกระทงที่สอง เป็นความผิดฐานยักยอกและศาลต้องสั่งให้จำเลยคืนเงิน 490,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามทางบรรยายฟ้องและตามข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติ ผู้เสียหายไม่ได้มอบหมายให้จำเลยเบิกเงิน 490,000 บาท จากบัญชีของผู้เสียหายที่เปิดไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตาก แต่เป็นเจตนาของจำเลยที่ต้องการได้เงินโดยมิชอบและหาวิธีการโดยการปลอมใบถอนเงินนำไปหลอกลวงเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ดังนั้น เงินที่จำเลยได้มาตามฟ้อง แม้จะเป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ธนาคารทำพิธีการทางบัญชีของธนาคารหักจากบัญชีของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นเพราะจำเลยนำเอกสารปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของธนาคารกรุงเทพหลงเชื่อ เงินที่จำเลยได้ไปจึงเป็นเงินของธนาคารมิใช่เงินของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกเงินผู้เสียหายในกระทงที่สอง และแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า ความผิดฐานยักยอกที่โจทก์ฟ้องในกระทงที่สองแท้จริงแล้วเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดต่อผู้เสียหายต่างคนจากที่โจทก์บรรยายในฟ้อง จึงเป็นข้อเท็จจริงแตกต่างจากที่กล่าวในฟ้องในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง และเมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยในกระทงที่สอง ก็ไม่อาจสั่งให้จำเลยคืนเงิน 490,000 บาท แก่ผู้เสียหายได้เช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟัง ไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share