แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยคัดค้านว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ที่จะไม่ยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์ต่อไปอันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์ โจทก์ต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเสียภายในหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,200 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายในหนึ่งปี จึงหมดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าเฉพาะปี 2518 พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่พิพาทประจำปี 2518 จำนวน 600 บาทแก่โจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ว่าที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 เป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 เช่าทำไร่และปลูกบ้านตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 แต่เมื่อโจทก์มีกรณีพิพาทกับนายสีหรือสมศรี ทิพย์วงษา เกี่ยวกับที่ดินอีกส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.1 ในสำนวนคดีแพ่งของศาลจังหวัดปราจีนบุรี หมายเลขดำที่ 3/2519 หมายเลขแดงที่ 37/2520 ซึ่งได้มีการทำแผนที่พิพาทในคดีดังกล่าวและได้มีการรังวัดรวมถึงที่พิพาทในคดีนี้ด้วย จำเลยที่ 2 คัดค้านว่าที่พิพาทภายในเส้นหมายสีเขียวเนื้อที่ 45 ไร่ 3 งาน 3 ตารางวา เป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 การคัดค้านของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการบอกกล่าวแสดงเจตนาไปยังโจทก์ที่จะไม่ยึดถือที่พิพาทแทนโจทก์อีกต่อไป โดยจะยึดถือเพื่อตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 อันเป็นการแย่งการครอบครองของโจทก์อยู่ในตัวการฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองของโจทก์จึงต้องฟ้องภายในหนึ่งปีตามมาตรา 1375 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ฯลฯ
“พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่พิพาทอันเป็นที่ดินของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้างจำนวน 1,200 บาทแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงินปีละ 600 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนบ้านเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองเสียค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 1,800 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีเกี่ยวกับที่นามาฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ”