คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตายและค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 1,256,000 บาท, 1,823,400 บาท และ 360,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,590,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 72,000 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 464,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสี่เสร็จสิ้น คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายวีระศักดิ์ ผู้ตาย ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 กระทำละเมิดต่อผู้ตายจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ โจทก์ที่ 1 รับทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวันที่ 11 เมษายน 2554 ถือว่าโจทก์ทั้งสี่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ยังไม่เกินกำหนดหนึ่งปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ทั้งสี่บรรยายว่า จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้าง มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับดังกล่าวกลับปล่อยให้สถานที่ทำงานของนายวีระศักดิ์ ผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างอับอากาศเป็นที่สะสมของสารเคมีเป็นพิษและมีก๊าซออกซิเจนไม่เพียงพอ ไม่จัดให้สถานที่ทำงานปลอดภัยจากมลพิษทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและมีสารก่อมะเร็ง ไม่จัดชุดทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สามารถป้องกันสารเคมีอันตราย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน คำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่จำเลยทั้งสามผู้เป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอันเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงมิใช่กรณีที่ขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดเฉพาะในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานกฎหมายมีอายุความที่ยาวกว่าเนื่องจากมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อคดีนี้ผู้ตายลาออกจากงานในวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคดีขาดอายุความละเมิดหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ประการต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายไม่สามารถทำงานได้จนถึงอายุ 60 ปี เพราะค่าสินไหมทดแทนกรณีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 จะเรียกร้องได้เฉพาะกรณีที่ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตายแต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสอง เห็นว่า โจทก์ที่ 1 มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังต่อไปนี้ … (4) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย (5) ค่าขาดไร้อุปการะ และยังมีคำขอต่อไปอีกว่า หากผู้ตายไม่ถูกจำเลยทั้งสามทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย ผู้ตายจะสามารถทำงานได้จนถึงอายุ 60 ปี จำเลยทั้งสามจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ด้วย ซึ่งต่อมาศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยแบ่งเป็น… 4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย และ 5. ค่าขาดไร้อุปการะและค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายไม่สามารถทำงานได้จนถึงอายุ 60 ปี ดังนั้น เมื่อค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตายเป็นเงินตามมาตรา 443 วรรคสอง แต่ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายไม่สามารถทำงานได้จนถึงอายุ 60 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องดังกล่าว หาใช่ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ที่ผู้ตายมีสิทธิเรียกร้องจากผู้ทำละเมิดตามมาตรา 443 วรรคสอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ตาย ทั้งที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ตายประกอบด้วยนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายสูบบุหรี่แม้มิได้สูบเป็นประจำแต่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ตายป่วยเป็นมะเร็ง ถือว่าความเสียหายหรือความตายที่เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ตายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลมเกี่ยวกับการกำหนดค่าเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่าเมื่อผู้ตายมีส่วนร่วมเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดประกอบด้วย และเรืออรพินท์ 1 ได้ผ่านการตรวจสอบจากทางราชการหลายหน่วยงานประกอบกับโจทก์ได้รับค่าเสียหายจากกองทุนเงินทดแทนแล้ว จึงกำหนดค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ตายจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลแรงงานกลางอันเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share