คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ.
การพิจารณาความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ย่อมกระทำโดยการพิจารณาและสืบพยานในศาล ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อน
ความรับผิดทางอาญาคือโทษ ผู้กระทำความผิดย่อมได้รับเองเป็นรายบุคคลเฉพาะตัว แม้ตัวการถึงแก่ความตาย ผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ตัวการยังต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3, 4, 307, 308, 311, 315, 334 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 1,657,000,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 311 ประกอบมาตรา 315 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการเบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลโดยทุจริต ให้จำคุก 10 ปี และปรับ 1,000,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี ให้จำเลยร่วมกันใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย 1,132,000,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 2 บุคคลมี 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมาตรา 65 บัญญัติว่า นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมาย และมาตรา 66 บัญญัติว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย อันหมายความรวมถึงสิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินต่าง ๆ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 บัญญัติว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลาย และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 15 บัญญัติว่า บริษัทมหาชน จำกัด คือ บริษัทประเภทหนึ่ง ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย รวมถึงการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ ในคดีนี้ ได้แก่ เงินจำนวน 1,657,500,000 บาท ที่บริษัทซิตี้เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมไปจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของหุ้นและรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1096 กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนร่วมลงทุนในกิจการต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 24 จึงบัญญัติให้มีการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน แต่วิธีการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เป็นองค์กรกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุน โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 4 บัญญัติให้บริษัทมหาชนจำกัดเป็นบริษัทตามพระราชบัญญัตินี้และบทบัญญัติในหมวด 2 และหมวด 3 กำหนดหลักเกณฑ์การออกหลักทรัพย์และการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนไว้ ดังนั้น ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นนิติบุคคลทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เป็นเจ้าของเงินจำนวน 1,657,500,000 บาท ที่บริษัทซิตี้เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด กู้ยืมไปเมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปด้วยวิธีการที่ไม่ชอบตามที่โจทก์ฟ้อง ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ย่อมได้รับความเสียหายโดยตรง และเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการพิสูจน์ความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ย่อมกระทำโดยการพิจารณาและสืบพยานในศาล ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนดังจำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกประการหนึ่งว่า เมื่อนายเกริกเกียรติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ซึ่งโจทก์ฟ้องในคดีอื่นอ้างว่าเป็นตัวการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308 และ 311 ได้ถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณา ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายเกริกเกียรติกระทำความผิด ความผิดของจำเลยในฐานะผู้ช่วยเหลือตามมาตรา 315 จึงระงับด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) บัญญัติเพียงว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิด มิได้หมายความว่าความผิดของนายเกริกเกียรติต้องระงับไป ความรับผิดทางอาญาคือโทษ ผู้กระทำความผิดย่อมได้รับเองเป็นรายบุคคลเฉพาะตัว ตัวการกับผู้ช่วยเหลือต่างต้องรับผิดทางอาญาตามการกระทำของตน เมื่อพยานหลักฐานในสำนวนหนักแน่นเพียงพอพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308 และ 311 จำเลยย่อมต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว ความผิดไม่ระงับไปดังจำเลยอ้าง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน สำหรับปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อย ไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share