แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ 1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ข้อ 1.1 เมื่อประมาณปี 2536 ถึงปี 2544 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยรู้อยู่แล้วว่านายศรพงษ์หรือกะลา ไม่มีชื่อสกุล หรือนายสรพงษ์ กับพวกเป็นคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา มีภูมิลำเนาอยู่ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง อันถูกต้อง และไม่ได้ผ่านเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ได้ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ โดยไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวมาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในไร่ของจำเลย เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม
ข้อ 1.2 เมื่อประมาณปี 2544 ถึงปี 2545 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรู้อยู่แล้วว่านางผ่อนหรือพรหรือมะเตียมปู ไม่มีชื่อสกุล กับพวกเป็นคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา มีภูมิลำเนาที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และไม่ได้ผ่านเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกทั้งไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ได้ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ โดยไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวมาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในไร่ของจำเลย เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม
ข้อ 1.3 เมื่อประมาณปี 2545 ถึงปี 2552 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยรับนางผ่อนซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงาน เข้าทำงานเป็นแม่บ้านที่คลินิกรักษาผู้ป่วยของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ข้อ 1.4 เมื่อประมาณปี 2547 จำเลยรู้อยู่แล้วว่านายศรพงษ์ นายโย่งหรือซอแงแล ไม่มีชื่อสกุล กับพวกเป็นคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา มีภูมิลำเนาอยู่ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และไม่ได้ผ่านเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ได้ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ โดยไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวมาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในไร่ของจำเลย เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม
ข้อ 1.5 ต่อมาเมื่อประมาณปี 2547 ถึงประมาณปลายปี 2551 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานเป็นกรรมกรในไร่ของจำเลย โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใบอนุญาตทำงาน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ข้อ 1.6 เมื่อประมาณปี 2553 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 22 กันยายน 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ได้ข่มขู่ใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญโดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยว กักขัง นายศรพงษ์ ผู้เสียหายที่ 1 และนางผ่อน ผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการบังคับใช้แรงงาน ข่มขืนใจให้ทำงาน โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 เด็กหญิงมะเหมี่ยว ไม่มีชื่อสกุล และเด็กชายมะขาม ไม่มีชื่อสกุล บุตรของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย พาผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้วบังคับให้ทำงานเป็นกรรมกรภายในไร่ของจำเลยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง จนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ต้องอยู่ในภาวะกลัวและจำยอม ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ข้อ 1.7 เมื่อประมาณวันที่ 6 หรือ 7 เมษายน 2554 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรู้อยู่แล้วว่านายตาแง ไม่มีชื่อสกุลกับพวก เป็นคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมามีภูมิลำเนาอยู่ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางอันถูกต้อง และไม่ได้ผ่านเข้าทางด่านตรวจคนเข้าเมือง อีกทั้งไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ได้ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ โดยไปรับคนต่างด้าวดังกล่าวมาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และให้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในไร่ของจำเลย เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวพ้นจากการจับกุม
ข้อ 1.8 หลังจากนั้น จำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานเป็นกรรมกรในไร่ของจำเลย โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใบอนุญาตทำงาน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ข้อ 1.9 เมื่อประมาณกลางปี 2555 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 22 กันยายน 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ได้ข่มขู่ใช้กำลังบังคับ ขู่เข็ญโดยใช้กำลังประทุษร้าย หน่วงเหนี่ยว กักขัง นายตาแง ผู้เสียหายที่ 3 ด้วยการบังคับใช้แรงงานข่มขืนใจให้ทำงาน โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพของผู้เสียหายที่ 3 โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย พาผู้เสียหายที่ 3 จากท้องที่อื่นแล้วบังคับให้ทำงานเป็นกรรมกรภายในไร่ของจำเลยโดยไม่ได้รับค่าจ้าง จนผู้เสียหายที่ 3 ต้องอยู่ในภาวะกลัวและจำยอม ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกี่ยวพันกัน จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4377/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 474/2556 ของศาลชั้นต้น ค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายทั้งสาม จากการได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ ถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกบังคับให้ทำงาน เป็นเงิน 1,200,000 บาท 600,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ ค่าสินไหมทดแทนต่อเสรีภาพ ถูกจำกัดเสรีภาพ โดยข่มขู่ บังคับ ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ไม่สามารถประกอบอาชีพการงานอื่นได้และบังคับใช้แรงงาน สำหรับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี 1 เดือน 20 วัน วันละ 200 บาท เป็นเงินคนละ 156,200 บาท และผู้เสียหายที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2555 เป็นเวลา 170 วัน วันละ 200 บาท เป็นเงิน 34,000 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 1,356,200 บาท ของผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 756,200 บาท และของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 234,000 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 27, 54 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 13, 52 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 นับโทษจำคุกจำเลยนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4377/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 474/2556 ของศาลชั้นต้น และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 1,356,200 บาท ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 756,200 บาท ผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 234,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพข้อหาให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมตามคำฟ้องข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.4 ส่วนข้ออื่นนอกนั้นคงให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งว่า โจทก์ร่วมทั้งสามไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะต่างยอมรับที่ศาลแรงงานภาค 7 ว่า นายจ้างของโจทก์ร่วมทั้งสามคือ นายสุบิล จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายศรพงษ์หรือกะลา ไม่มีชื่อสกุล หรือนายสรพงษ์ ผู้เสียหายที่ 1 นางผ่อนหรือพรหรือมะเตียมปู ไม่มีชื่อสกุล ผู้เสียหายที่ 2 และนายตาแงไม่มีชื่อสกุล ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาค้ามนุษย์ โดยให้เรียกผู้เสียหายทั้งสามว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 13 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือน ฐานค้ามนุษย์ จำคุก 8 ปี รวมจำคุก 8 ปี 42 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพฐานให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ตามคำฟ้องข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี 33 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4377/2556 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 474/2556 ของศาลชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษา จึงไม่นับโทษต่อให้ ยกคำขอส่วนนี้ ให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นเงิน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และเป็นเงิน 100,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3
โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์ข้อ 1.4, 1.6 และ 1.7 โทษแต่ละข้อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก 8 ปี 9 เดือน ยกฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึง 1.3, 1.5 และ 1.8 และยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม (ที่ถูก โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 3) ข้อ 1.9 ยกคำขอโจทก์ในส่วนขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมทั้งสามเป็นคนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอาชีพรับราชการเป็นแพทย์ ตำแหน่งรองผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจและเปิดคลินิกรักษาพยาบาลผู้ป่วยอยู่ที่กรุงเทพมหานครด้วย จำเลยมีที่ดินใช้ทำไร่และเลี้ยงวัวอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี 2 แห่ง คือไร่ที่บ้านสาระเห็ดเรียกว่า ไร่ล่าง กับไร่ที่บ้านวังข้าวสารเรียกว่า ไร่บน ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตร มีนางศศิธรหรืออ้อย เป็นผู้ดูแลคนงาน โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากันทำงานในไร่ของจำเลย เมื่อปี 2551 โจทก์ร่วมที่ 1 หลบหนีออกจากไร่ของจำเลยไปรับจ้างทำงานที่ร้านค้าวัสดุก่อสร้างและทำอิฐบล็อกของนายสละ ที่ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภายหลังโจทก์ร่วมที่ 1 ชักชวนนายตัวเล็ก ไม่มีชื่อสกุล คนต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ซึ่งทำงานอยู่ในไร่ของจำเลยออกมาเป็นลูกจ้างนายสละ และขอให้นายสละขับรถยนต์พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปรับโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยว ไม่มีชื่อสกุล บุตรสาวอายุประมาณ 2 ปี จากไร่สาระเห็ดมาทำงานกับนายสละด้วย ต่อมาปี 2553 มีเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมนายตัวเล็ก โดยกล่าวหาว่าลักอาวุธปืนของจำเลยไป หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมโจทก์ร่วมที่ 1 โดยกล่าวหาว่าลักอาวุธปืนของจำเลย โดยเจ้าพนักงานตำรวจพาโจทก์ร่วมที่ 2 กลับไปที่ไร่สาระเห็ด และนำตัวโจทก์ร่วมที่ 1 ไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญภายหลังจำเลยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ใช่คนร้าย โจทก์ร่วมที่ 1 จึงถูกดำเนินคดีเฉพาะความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วมีนายสุเทพ พี่ชายจำเลยไปรับโจทก์ร่วมที่ 1 กลับไปทำงานอยู่ที่ไร่สาระเห็ด ระหว่างทำงานโจทก์ร่วมที่ 1 ประสบอุบัติเหตุตกจากรถกระเช้าขณะปีนขึ้นไปตัดต้นไม้ จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส กระดูกแขนซ้ายและหลังหัก ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจและประสบอุบัติเหตุถูกเครื่องบดข้าวโพดหนีบมือข้างซ้ายจนพิการ เมื่อปี 2552 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าไม้รวกได้รับแจ้งว่ามีบุคคล 2 คนสูญหายไปพร้อมกับรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้า 1 คัน ต่อมาปี 2555 เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวได้จากบ้านพักในจังหวัดนนทบุรีและดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและตรวจพบโครงกระดูกมนุษย์ถูกกลบฝังอยู่ในไร่ของจำเลย จึงได้ดำเนินคดีแก่จำเลยในกรณีดังกล่าวและดำเนินคดีนี้แก่จำเลยด้วย สำหรับความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และข้อ 1.7 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ กับความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.1, 1.2 และความผิดรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามฟ้องข้อ 1.3, 1.5 และ 1.8 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรับว่าเป็นเจ้าของไร่สาระเห็ดและไร่วังข้าวสาร และประกอบกิจการฟาร์มโคนมที่ไร่ดังกล่าวโดยมีโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นคนงานอยู่ด้วย เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าเคยร่วมกิจการดังกล่าวกับนางศศิธร แต่ภายหลังได้เลิกกิจการแล้ว แต่ฝ่ายโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มโคนมและไร่ทั้ง 2 แห่ง ส่วนนางศศิธรเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลคนงานในไร่แทนจำเลยเท่านั้น นอกจากนั้นภายหลังจากที่จำเลยกล่าวอ้างว่าเลิกกิจการที่ทำในไร่สาระเห็ดแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำเนาทะเบียนประวัติผู้ป่วย ซึ่งระบุว่า โจทก์ร่วมที่ 1 ประสบอุบัติเหตุจากการตกรถกระเช้าขณะตัดกิ่งไม้ในไร่ของจำเลย แล้วได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ต่อมาได้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยมีนางสาวศิวารยา ภริยาคนใหม่ของจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโรงพยาบาล โดยระบุในเอกสารดังกล่าวถึงความเกี่ยวข้องว่าเป็นนายจ้างของโจทก์ร่วมที่ 1 และใช้พัฒนะคลินิกของจำเลยเป็นสถานที่พักเมื่อออกจากโรงพยาบาลตำรวจ อีกทั้งจำเลยเบิกความรับว่า จำเลยเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งหมด ประกอบกับนายสละพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ร่วมที่ 1 เล่าให้พยานฟังว่าก่อนหน้าที่โจทก์ร่วมที่ 1 จะมาทำงานกับพยาน โจทก์ร่วมที่ 1 ทำงานกับหมอที่จังหวัดเพชรบุรี หลังจากนั้นได้ขอร้องให้พยานขับรถยนต์ไปรับโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยวมาอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ช่วงเย็น ภริยาพยานโทรศัพท์แจ้งแก่พยานว่ามีเจ้าพนักงานตำรวจมาจับโจทก์ร่วมที่ 1 พยานจึงรีบไปหาโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยว แต่มีเจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์กระบะมีโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งมาด้วย ได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยวไปด้วย โดยบอกแก่พยานว่านายจ้างเขาจะตามมาเอาตัวคืน แม้โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ต้องหา แต่พยานก็ไม่กล้าขัดขวางเพราะคิดว่าหมอซึ่งเป็นนายจ้างเก่าน่าจะเป็นผู้มีอิทธิพล ภายหลังพยานเห็นภาพข่าวทางโทรทัศน์ เห็นข่าวจำเลยและภาพโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นนายจ้างเก่าของโจทก์ร่วมที่ 1 ยิ่งไปกว่านั้นได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทประสงค์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 โจทก์ร่วมที่ 1 เห็นจำเลยขับรถยนต์เข้าไปที่ไร่วังข้าวสารเพื่อจะรับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เกรงว่าจะมีอันตรายจึงโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจมารับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จากไร่ดังกล่าว และขอร้องให้ไปรับตัวเด็กหญิงมะเหมี่ยวและเด็กชายมะขามด้วย วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานตำรวจอีกชุดหนึ่งจึงไปรับตัวบุตรทั้งสองคนของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จากคลินิกของจำเลยมาอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยว พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่า หลังจากโจทก์ร่วมที่ 2 คลอดเด็กชายมะขามได้ประมาณ 3 เดือน จำเลยและนางสาววิลสาได้พาเด็กหญิงมะเหมี่ยวและเด็กชายมะขามไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยโจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความว่าเหตุที่นางสาววิลสานำบุตรของโจทก์ร่วมที่ 2 ไปก็เพื่อกันไม่ให้โจทก์ร่วมที่ 1 หลบหนีและจะทำงานสะดวกขึ้น โจทก์ร่วมที่ 1 จะได้พบบุตรทั้งสองประมาณเดือนละ 1 ถึง 2 ครั้ง เมื่อจำเลยไปที่ไร่ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ โจทก์ร่วมที่ 2 เคยพูดขอจำเลยกลับบ้านแต่จำเลยปฏิเสธและบอกว่าต้องอยู่กับจำเลยตลอดชีวิต และโจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความว่า เคยขอจำเลยกลับประเทศของตน จำเลยบอกว่ากลับก็ได้แต่ให้ผ่าแบ่งลูกคนละครึ่งโจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่ขออีก เมื่อได้พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า แม้คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 บางช่วงบางตอนมีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเพียงเรื่องรายละเอียดของเหตุการณ์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นกับโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มากมายและเป็นระยะเวลานาน แต่คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามทุกปากดังกล่าวมีลำดับเหตุการณ์เชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างสมเหตุสมผลในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ยากที่จะเป็นการแต่งเติมเรื่องราวขึ้นเพื่อปรักปรำให้ร้ายจำเลยได้ เชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่พยานรู้เห็นและจดจำได้ ไม่น่าเชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจะร่วมมือกันปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ภายหลังจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 พาเด็กหญิงมะเหมี่ยวหลบหนีออกจากไร่ของจำเลยไปรับจ้างทำงานกับนายสละแล้ว จำเลยได้ร้องทุกข์กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ลักอาวุธปืนของจำเลยแล้วให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมโจทก์ร่วมที่ 1 และนำโจทก์ร่วมที่ 2 และเด็กหญิงมะเหมี่ยวกลับไปทำงานในไร่สาระเห็ดโดยโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้สมัครใจ ภายหลังจำเลยได้กลับคำให้การในชั้นสอบสวนว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ใช่คนร้ายที่ลักอาวุธปืนของจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 จะต้องถูกส่งตัวกลับไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายสุเทพพี่ชายจำเลยรับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 กลับไปทำงานในไร่สาระเห็ด แล้วจำเลยและนางสาววิลสานำเด็กหญิงมะเหมี่ยวและเด็กชายมะขามแยกจากโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ไปอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อข่มขู่บังคับให้โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ทำงานในไร่ของจำเลยต่อไป โดยทำให้กลัวว่าหากไม่ปฏิบัติตามแล้วบุตรทั้งสองจะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ ประกอบข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งว่า ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 กลับไปทำงานในไร่ของจำเลยระหว่างปี 2553 ถึงปี 2555 นั้น จำเลยมิได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 แต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการรับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ไว้ เพื่อบังคับใช้แรงงานอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการข่มขู่ให้กลัวว่าหากไม่ยินยอมทำงานให้แก่จำเลยแล้ว บุตรทั้งสองของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 จะได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 52 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยได้เลิกกิจการฟาร์มโคนมและขายโคตัวสุดท้ายไปเมื่อปี 2547 แล้วเลิกอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาววิลสาตั้งแต่ปี 2548 แล้วมิได้เกี่ยวข้องกับกิจการในไร่ของจำเลย โดยโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของนางศศิธรนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ส่วนที่จำเลยอ้างว่านายสุเทพขอร้องให้จำเลยช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 ในคดีลักทรัพย์อาวุธปืนของจำเลยเพราะต้องการให้โจทก์ร่วมที่ 1 ไปทำงานเป็นลูกจ้างนายสุเทพนั้น เห็นว่า หากโจทก์ร่วมที่ 1 ชอบดื่มสุราเป็นประจำ มีนิสัยไม่ดีและลักทรัพย์อาวุธปืนของจำเลยดังคำเบิกความของจำเลย ย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะคิดช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงกับยินยอมกลับคำให้การว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ใช่คนร้ายเพียงเพื่อจะช่วยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ไปทำงานกับนายสุเทพ อีกทั้งโจทก์ร่วมที่ 1 เบิกความยืนยันว่า เมื่อนายสุเทพไปรับตัวโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปพบกับจำเลย หลังจากนั้นจำเลยพาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปทำงานในไร่สาระเห็ด ข้ออ้างของจำเลยที่ว่ายินยอมช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อให้ไปทำงานกับนายสุเทพนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่น่าเชื่อถือพยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามได้ ส่วนฎีกาของจำเลยประการอื่นที่อ้างว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างนางศศิธร โดยจำเลยมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดซึ่งไม่ทำให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.6 และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยหรือยกฟ้องในความผิดฐานค้ามนุษย์แล้วจำเลยก็ไม่ควรต้องรับโทษในความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นความผิดต่างกรรมกับกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องข้อ 1.6 และ 1.9 และชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อ 1.4 ส่วนข้อ 1.7 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ประกอบกับการกระทำความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าวย่อมเป็นความผิดสำเร็จนับตั้งแต่ผู้กระทำผิดให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว ซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำออกจากความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลจึงชอบที่จะลงโทษในความผิดตามฟ้องข้อ 1.4 และ 1.7 เป็นคนละกรรมกับความผิดฐานค้ามนุษย์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน