แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์นักบิน ที่ระบุว่า 1. การไว้ผมต้องเรียบร้อยและชายผมต้องไม่เกินคอปกเสื้อ รวมถึงการย้อมสีผมต้องดูสุภาพและเหมาะสมเป็นธรรมชาติ 2. การไว้หนวดและจอนต้องให้เรียบร้อย โดยจอนต้องยาวไม่เกินติ่งหูและไม่อนุญาตให้ไว้เครา 3. การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบินต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบนั้น เป็นการออกคำสั่งภายใต้ระเบียบของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบหน่วยงานกำหนดวิธีปฏิบัติหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อยู่ในความหมายของสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 โดยคำสั่งนี้ขยายความการปฏิบัติในเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และในตอนท้ายของคำสั่งที่ระบุว่าหากนักบินยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามให้งดปฏิบัติการบินจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องก็เป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมและจำเป็นต้องมีมาตรการให้นักบินต้องปฏิบัติตาม มิใช่การลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทั้งเมื่อเป็นคำสั่งกำหนดแนวทางให้พนักงานในตำแหน่งนักบินทุกคนปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติและประกอบธุรกิจด้านบริการ โดยมิได้สร้างภาระให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งนักบินเกินสมควร หรือขัดต่อสภาพทางกาย สุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาของโจทก์อันจะทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ได้ หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของโจทก์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ออกคำสั่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ Low Rank โดยโจทก์ยังคงได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนตามตำแหน่งนักบินที่ 1 ตลอดมา ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งลดตำแหน่ง (Low Rank) อันเป็นการลงโทษโจทก์ระหว่างตรวจสอบมาตรฐานการบินในวันที่ 28 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2551 และวันที่ 9 เมษายน 2551 ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนใบประเมินผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินโจทก์ในวันที่ 28 ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2551 ฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2551 ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขใบประเมินผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินโจทก์ในวันที่ 9 เมษายน 2551 โดยตัดข้อความที่ระบุว่า HIS APPEARANCE IS SATISFACTORY (ตามที่มี COMMENTS ในการ LINE CHECK ก่อนหน้านี้ในเรื่องเคราได้โกนออกแล้ว) ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนใบแจ้งเตือนการปฏิบัติตามคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2551 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ที่ถูกระงับการบินกับค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์และสูญเสียความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคตเป็นเงินจำนวน 86,319,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์เป็นพนักงานในตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่กัปตันหรือนักบินที่ 1 ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 120,000 บาท และค่า License Allowance เดือนละ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีฐานะเป็นฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 1 โจทก์ในฐานะพนักงานการบินไทยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล และโจทก์ในฐานะนักบินของจำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตาม Flight Operations Manual หรือชื่อย่อ FOM ซึ่งเป็นคู่มือการทำงานเกี่ยวกับการบินที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรการบินและกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบมาตรฐานการบินของนักบินไว้ FOM กำหนดหลักเกณฑ์ที่นักบินต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานการบินไว้ 12 ข้อ ซึ่งมีทั้งเรื่องความสามารถในการบินและเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินรวมอยู่ด้วย โจทก์อยู่ภายใต้สายงานบังคับบัญชาของรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ (DO) ต่อมาประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2551 เรืออากาศเอกประวิตร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการได้ออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่องภาพลักษณ์นักบิน ดังนี้ 1) การไว้ทรงผมต้องเรียบร้อยและชายผมต้องยาวไม่เกินคอปกเสื้อ รวมถึงการย้อมสีผมต้องดูสุภาพและเหมาะสมเป็นธรรมชาติ 2) การไว้หนวดและจอนต้องให้เรียบร้อย โดยจอนต้องยาวไม่เกินติ่งหู และไม่อนุญาตให้ไว้เครา 3) การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบเมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบินต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบบริษัท พนักงานนักบินคนอื่นปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว มีเพียงโจทก์ผู้เดียวคัดค้านคำสั่งและไม่ยอมปฏิบัติตาม จึงเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 28 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 2 ตรวจสอบมาตรฐานการบินของโจทก์แล้วไม่ยอมให้โจทก์ผ่าน จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการบิน ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบมาตรฐานการบินของโจทก์ในวันที่ 7 ถึงวันที่ 9 เมษายน 2551 จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ตรวจสอบได้ให้โจทก์ผ่าน โดยระบุว่าโจทก์โกนเคราออกแล้ว
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในขณะนั้นหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์เสียหายโดยการให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ Low Rank ระหว่างตรวจสอบมาตรฐานการบินหรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 นั้น สภาพการจ้าง หมายความว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน ซึ่งคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ไม่อยู่ในความหมายของสภาพการจ้าง แต่เป็นการออกคำสั่งภายใต้ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ที่ระบุให้ผู้บังคับบัญชาผู้รับผิดชอบหน่วยงานกำหนดวิธีปฏิบัติ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหน่วยงานของตนได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ทั้งคำสั่งดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดว่าให้ขยายความการปฏิบัติในเรื่องภาพลักษณ์ของนักบินที่ระบุไว้ใน FOM แม้ตอนท้ายระบุว่าหากยังมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามให้งดปฏิบัติการบินจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ก็เป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่และเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องมีบทกำหนดมาตรการให้ผู้รับคำสั่งต้องปฏิบัติตาม มิใช่การลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงไม่ถือว่าคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์ของนักบิน จำเลยได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานของจำเลยซึ่งทำงานในตำแหน่งนักบินทุกคนปฏิบัติตนด้วยการแต่งกายและแต่งตัวให้เหมาะสม เช่น การไว้ทรงผมต้องเรียบร้อย การไว้หนวดและจอนต้องเรียบร้อย การแต่งเครื่องแบบและส่วนประกอบของเครื่องแบบ เมื่อปรากฏตัวต่อสาธารณชนเพื่อปฏิบัติการบิน ต้องครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบ ก็เป็นไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กรจำเลยซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติและประกอบธุรกิจด้านบริการ คุณลักษณะของพนักงานจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและการไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อการใช้บริการสายการบินของจำเลย การแต่งกาย การแต่งตัว และพฤติกรรมของพนักงานจำเลยจึงส่งผลต่อความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของจำเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งของจำเลยดังกล่าวก็มิได้สร้างภาระแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งนักบินเกินสมควร หรือขัดต่อสภาพทางกาย สุขภาพ ความเชื่อทางศาสนาของโจทก์อันจะทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยได้ หรือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของโจทก์อย่างไม่มีเหตุผลอันสมควร การออกคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เรื่อง ภาพลักษณ์ของนักบิน จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของโจทก์หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามาว่าคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ของจำเลยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และมีผลใช้บังคับแก่โจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาเกี่ยวกับการออกคำสั่งให้โจทก์ทำหน้าที่ผู้ช่วยนักบินหรือ LOW RANK ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่ใช่การลดตำแหน่งงานของโจทก์ โจทก์ยังคงได้รับเงินเดือนค่าตอบแทนตามตำแหน่งนักบินที่ 1 ตลอดมา และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของโจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำได้ตามระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในปัญหานี้ไว้โดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปมีว่า คดีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 และพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้พิจารณาแล้วว่าคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะให้เพิกถอนได้ ส่วนที่โจทก์ขอให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องโดยขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนผลการประเมินการตรวจสอบมาตรฐานการบินที่ให้โจทก์ไม่ผ่าน แก้ไขใบประเมินผลการตรวจสอบมาตรฐานการบินโดยตัดข้อความว่าโจทก์โกนเคราออกแล้ว เพิกถอนใบเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการสูญเสียรายได้ที่ถูกระงับการบินและสูญเสียความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคตเกี่ยวกับกรณีการกระทำผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อโจทก์ ก็เป็นประเด็นแห่งคดีที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งสายปฏิบัติการที่ 009/2551 ที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน