แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 495,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจนถึงวันครบกำหนดชำระ หลังจากนั้นให้คิดดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์บวก 1 ตามประกาศธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2541 และหลังจากนั้นให้คิดตามประกาศของโจทก์ในแต่ละช่วงจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 เป็นเงิน 585,958.90 บาท หักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับในวันที่ชำระ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 325,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์บวก 1 ตามประกาศของโจทก์แต่ละช่วงนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์บวก 1 ตามประกาศของโจทก์แต่ละช่วงนับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยทั้งหมดต้องไม่เกินอัตราที่โจทก์คิดและขอตามคำฟ้อง เมื่อรวมความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในคดีหมายเลขดำที่ 12312/2542 และคดีหมายเลขดำที่ 290/2543 ของศาลชั้นต้น (ถ้าหากมี) ต้องไม่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 5 ถ้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2659, 2660, 2664, 2689, 2786, 2787, 2857, 2866, 2867, 2868, 2922, 2923, 3472, 3473 และ 4034 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 16, 30, 72/11 และ 71/11 หมู่ที่ 3 ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 12677, 12711, 12712, 12713, 12714 และ 12720 ตำบลคลองมหานาค (ป้อมปราบศัตรูพ่าย) อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย (สามเพ็ง) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 213836 ตำบลบางแก้ว (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอบางพลี (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์จำนำหุ้นของบริษัทไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาจำนำหุ้น ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบถ้วนแก่โจทก์ตามจำนวนความรับผิด กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้น เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์มาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้นถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงตามคำร้อง และมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในครั้งนี้โดยอาศัยเหตุเดียวกับคำร้องที่ยื่นในครั้งก่อน จึงเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนตามคำร้องฉบับแรก ถือว่าผู้ร้องขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องเพราะเหตุผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล มิใช่เป็นการวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี คำร้องฉบับนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เห็นว่า การขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 หมายถึง การที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีด้วย การที่ผู้ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน อันเป็นการสืบพยานเพื่อเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในชั้นบังคับคดี มิใช่การสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่โจทก์และจำเลยพิพาทกัน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 202 มาใช้บังคับดังที่ผู้ร้องฎีกา เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามาแล้วครั้งหนึ่งโดยอ้างว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาไต่สวนให้ได้ความตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ถือว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) การที่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิฉบับนี้โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาจากผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ อันเป็นเหตุเดียวกันกับคำร้องฉบับก่อนที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ