คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายบางคนได้รับอันตรายแก่กาย และทรัพย์สินของผู้อื่นคือรถยนต์และรถจักรยานยนต์เสียหาย ซึ่งตามสภาพความผิดเป็นการประมาทอย่างร้ายแรงอันเป็นภัยต่อสาธารณชน แต่จำเลยเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขระดับ 4 โดยได้รับราชการเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมาเป็นเวลารวม 15 ปี กับมีหนังสือรับรองของบุคคลที่เคยรู้จักกับจำเลยรับรองว่า จำเลยเป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยได้รับโทษจำคุก อีกทั้งปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้นำเงิน 100,000 บาทมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อเป็นค่าเสียหายแก่ภริยาผู้ตายซึ่งเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกจำเลย 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จึงเหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(14), 43(4), 157, 162และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
ระหว่างพิจารณา ภริยาของผู้ตายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 309 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(14),43(4), 157, 162 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปีให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย ที่จำเลยขอให้รอการลงโทษโดยอ้างว่าไม่เคยต้องโทษและมีคุณงามความดีมาก่อนนั้น เห็นว่าจำเลยยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเลยจึงไม่รอการลงโทษให้
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ และขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการลงโทษจำคุกจำเลยเหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามสภาพความผิดของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรงอันเป็นภัยต่อสาธารณชนอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้พันเอกเพิ่มศักดิ์ถึงแก่ความตาย สิบตำรวจโทสุทัศน์ได้รับอันตรายแก่กาย รถยนต์หมายเลขทะเบียน 1จ-1367 กรุงเทพมหานคร และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน พิจิตร ก.-2161 ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 4มีนาคม 2529 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยได้นำเงิน 100,000 บาท มาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด ทั้งปรากฏจากคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของจำเลยว่าจำเลยเป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทย ตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลข ระดับ 4 โดยได้รับราชการและเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมาเป็นเวลารวม 15 ปี กับมีหนังสือรับรองของบุคคลที่เคยรู้จักกับจำเลยรับรองว่าจำเลยเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยได้รับโทษจำคุกอันแสดงว่าจำเลยมีคุณงามความดีมาแต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกเช่นนั้น จึงเหมาะสมกับสภาพความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์โดยเพิ่มโทษจำเลยขึ้นอีก ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share