คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574-2575/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ฉบับ ที่ 6 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ที่ใช้ บังคับอยู่ขณะเกิดเหตุมุ่งประสงค์จะให้มีหลักฐานเป็นหนังสือโดย แจ้งชัดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่านายจ้างประสงค์จะให้ลูกจ้างคนใดทดลองปฏิบัติงานก่อนหรือไม่ เป็นระยะเวลาเท่าใด เพื่อขจัดความขัดแย้งที่อาจมีขึ้นภายหน้าอันเป็นการคุ้มครองลูกจ้าง การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างปิดประกาศข้อบังคับของจำเลยซึ่ง มีข้อความระบุให้ผู้ซึ่งได้ รับการบรรจุเข้าทำงานจะต้อง ทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลาตาม ที่จำเลยเห็นสมควรแต่ ไม่เกิน 180 วัน ไว้ ณ สถานที่ทำการของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการแจ้งทดลองปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 180 วัน เป็นหนังสือให้โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างทราบแล้ว โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างทดลองปฏิบัติงาน.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำต่อมาจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ทั้งสองไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้าง และแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสองทราบแต่แรกว่าจะต้องทดลองงาน 180 วัน ระหว่างทดลองงานโจทก์ทั้งสองเจียระไนเพชรเกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองในระหว่างทดลองงาน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าเสียหายจำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 1ไปแล้ว 5,000 บาท ทั้ง ๆ ที่โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิได้รับขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยมีเหตุผลมิใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนค่าชดเชยนั้น ปรากฏว่า จำเลยได้ปิดประกาศข้อบังคับว่าด้วยพนักงานและการทำงานของจำเลยซึ่งมีข้อความเขียนว่า “ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุให้เข้าทำงานจะต้องเป็นพนักงานทดลองงานก่อน เป็นเวลาตามที่บริษัทเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 180 วัน ไว้แล้วตั้งแต่โจทก์ทั้งสองเข้าทำงานกับจำเลยแต่แรก โดยปิดประกาศไว้ที่บริเวณทางเข้าไปตอกบัตรเวลาทำงานของพนักงาน และบริเวณตรงที่รับเงินเดือนของพนักงาน จึงเท่ากับแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทั้งสองทราบแต่แรกแล้วว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลา 180 วันจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองระหว่างทดลองปฏิบัติงานจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 และวันที่ 18 มกราคม 2532ตามลำดับ ได้ค่าจ้างคนละ 90 บาทต่อวัน และโจทก์ที่ 1 ได้ค่าครองชีพอีกเดือนละ 200 บาท ระหว่างทำงานปรากฏว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ทำงานเจียระไนเพชรไม่ได้จำนวนตามมาตรฐานและทำให้เพชรเสียหาย จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 7เมษายน 2532 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2532 ตามลำดับ จำเลยได้ปิดประกาศข้อบังคับว่าด้วยพนักงานและการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมายล.1 ซึ่งมีข้อความระบุให้ผู้ซึ่งได้รับการบรรจุเข้าทำงานจะต้องทดลองปฏิบัติงานเป็นเวลาตามที่จำเลยเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 180 วันไว้ ณ ที่ทำการของจำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า การแจ้งให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทราบว่าจะต้องทดลองปฏิบัติงานก่อนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน นั้น จำเลยจะต้องแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือเฉพาะแต่ละบุคคลไป การที่จำเลยปิดประกาศข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมายล.1 ไว้ ณ สถานที่ทำงานของจำเลยไม่ถือว่าเป็นการแจ้งการทดลองปฏิบัติงานให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทราบแล้วนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุมุ่งประสงค์จะให้มีหลักฐานเป็นหนังสือโดยแจ้งชัดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างว่านายจ้างประสงค์จะให้ลูกจ้างคนใดทดลองปฏิบัติงานก่อนหรือไม่ หากมีจะเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งอันอาจมีขึ้นในภายหน้าอันเป็นการคุ้มครองลูกจ้าง ดังนั้นการที่จำเลยปิดประกาศข้อบังคับของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 ไว้ณ สถานที่ทำงานของจำเลย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งการทดลองปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 180 วัน เป็นหนังสือให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2ทราบแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมิใช่ลูกจ้างทดลองปฏิบัติฎีกาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้น และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำความผิด โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน2,900 บาท และโจทก์ที่ 2 จำนวน 2,700 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก.

Share