คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันเกิดเหตุโจทก์ต้องทำงานกะเช้า ซึ่งปกติต้องมาทำงานเวลา 5 น. แต่โจทก์ไปสาย พนักงานจ่ายงานของจำเลยจึงสั่งให้โจทก์มาทำงานในกะบ่ายและให้โจทก์ลงชื่อทำงานไว้ในใบลงชื่อทำงานประจำวันงานตอนบ่ายเริ่มเวลา 13.20 น. โจทก์ได้กลับไปบ้านพักของโจทก์ก่อนต่อมาเวลา 11 น. เศษ โจทก์ออกเดินทางเพื่อไปทำงานกะบ่ายโดยขับรถจักรยานยนต์ไป ระหว่างทางรถจักรยานยนต์ของโจทก์ชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นและโจทก์ขาหัก ดังนี้เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายแก่ร่างกายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่กรณีของโจทก์จึงมิใช่การประสบอันตรายตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์
จำเลยให้การว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ มีหน้าที่เป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารรถประจำทาง วันเกิดเหตุโจทก์ไปทำงานในกะเช้าซึ่งปกติจะต้องมาทำงานเวลา 5 นาฬิกาแต่โจทก์ไปสายและรถประจำทางออกไปปฏิบัติงานหมดแล้ว นายนิตย์ พลายภู่ พนักงานจ่ายงานจึงสั่งให้โจทก์มาทำงานในกะบ่ายแทน และให้โจทก์ลงชื่อทำงานไว้ในใบลงชื่อทำงานประจำวัน ซึ่งงานในตอนบ่ายจะเริ่มเวลา 13.20 นาฬิกา โจทก์ได้กลับไปบ้านพักของโจทก์ก่อนต่อมาเมื่อเวลา 11 นาฬิกาเศษโจทก์ได้ออกเดินทางเพื่อไปทำงานในกะบ่ายดังกล่าวแล้ว โดยขับรถจักรยานยนต์ไป ระหว่างทางรถจักรยานยนต์ของโจทก์ไปชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่น โจทก์ได้รับบาดเจ็บขาขวาหัก ข้อเท็จจริงได้ความดังกล่าวมาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ออกเดินทางจากบ้านพักเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารและประสบอุบัติเหตุรถชนกันในระหว่างเดินทางนั้น โจทก์ยังมิได้เริ่มลงมือทำงานให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นนายจ้างแต่อย่างใดแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าพนักงานจ่ายเงินได้สั่งให้โจทก์มาทำงานในกะบ่ายและให้โจทก์ลงชื่อทำงานไว้ในใบลงชื่อทำงานประจำวันดังอุทธรณ์ของโจทก์ก็ตามแต่เมื่อโจทก์ยังมิได้ทำงานตามที่นายจ้างได้มอบหมาย ดังนี้ จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่ กรณีของโจทก์จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน’

Share