แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกนั้นจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปจริงและเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระตามกฎหมาย จึงสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากกองมรดกได้ แม้การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอาจจะมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่เมื่อไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าได้เสียไปจริงและเป็นสิ่งที่ต้องชำระตามกฎหมายแล้ว ถึงโจทก์มิได้คัดค้านจำเลยทั้งสองก็ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักจากกองมรดกได้ สำหรับค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1721 ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ เมื่อเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้และทายาทจำนวนข้างมากมิได้ยินยอมให้จำเลยหักค่าใช้จ่าย ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ แต่สำหรับค่าจัดการศพซึ่งรวมอยู่ในค่าทำบุญสร้างศาลาการเปรียญนั้น เนื่องจากการจัดการศพเป็นสิ่งจำเป็นอันต้องจัดการตามจารีตประเพณีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้จัดการมรดกย่อมนำมาหักจากกองมรดกก่อนแบ่งปันแก่ทายาทได้ตามกฎหมาย การที่ทายาทในสายเดียวกันกับโจทก์จะยอมรับเงินทรัพย์มรดกจำนวนเพียงใดก็เป็นเรื่องเฉพาะของทายาทแต่ละคน เมื่อโจทก์ยังมิได้รับทรัพย์มรดก สิทธิของโจทก์จะมีเพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 344และโฉนดเลขที่ 56465 ซึ่งเป็นมรดกของนางสาวเคลิ้มและนายนันให้โจทก์รายละ2 งาน 13.7 ตารางวา หากไม่สามารถแบ่งแยกให้ได้ ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้จำเลยทั้งสองใช้เงินแก่โจทก์เท่าราคาที่ดินส่วนที่โจทก์จะได้รับเป็นเงิน 8,989,814.80 บาท
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินมรดกของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ จำนวน 3,163,692.69 บาท และจำเลยที่ 2 แบ่งเงินมรดกของนายนัน รุ่งสุวรรณ จำนวน 3,163,692.69 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินมรดกของนางสาวเคลิ้มรุ่งสุวรรณ 3,011,410.50 บาท และจำเลยที่ 2 แบ่งเงินมรดกของนายนัน รุ่งสุวรรณจำนวน 3,011,410.50 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณและนายนัน รุ่งสุวรรณ เจ้ามรดกทั้งสองมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน ได้แก่นางโหมด กลั่นหอม นางพ่วง เอี่ยมอ่อน นายเภา รุ่งสุวรรณ นางสาวเพียร รุ่งอรุณนางจั่นหรือจั้น ด้วยอุไร นางแต้ม น้อยสุข นางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ นางมูล วงษ์เพ็งและนายนัน รุ่งสุวรรณ พี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ คือนางแต้ม กับนางมูล ผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วมีผู้รับมรดกแทนที่ทุกคน ยกเว้นนางสาวเพียรที่ถึงแก่กรรมโดยไม่มีผู้ใดรับมรดกแทนที่นางสาวเคลิ้มไม่มีสามีและบุตร ส่วนนายนันก็ไม่มีภริยาและบุตร โจทก์เป็นบุตรของนายหริ่งกับนางโหมด กลั่นหอม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน เมื่อนางโหมดถึงแก่กรรม โจทก์กับพี่น้องเข้ารับมรดกแทนที่ส่วนของนางโหมด โจทก์จึงมีสิทธิรับมรดก1 ใน 54 ส่วนของทรัพย์มรดกนางสาวเคลิ้มและนายนัน จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวเคลิ้ม ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายนัน นางสาวเคลิ้มและนายนันมีชื่อเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน 2 แปลง ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกในคดีนี้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 344 และ 56465 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ที่ดินโฉนดเลขที่ 344 แบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1823 เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1824 เนื้อที่ 22 ไร่ 14 ตารางวาโฉนดเลขที่ 1825 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1826 เนื้อที่ 70 ตารางวาโฉนดเลขที่ 1827 เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1827 ถูกการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเวนคืน และโฉนดเลขที่ 344 ซึ่งเป็นแปลงคงเนื้อที่คงเหลือ 1 งาน 26 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 56465 แบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 1882 เนื้อที่ 2 งาน 95 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1883 เนื้อที่ 1 ไร่ 23 ตารางวาโฉนดเลขที่ 1884 เนื้อที่ 2 ไร่ 8 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1885 เนื้อที่ 3 งาน 93 ตารางวาโฉนดเลขที่ 56465 แปลงคงเนื้อที่คงเหลือ 2 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1827 ที่ถูกเวนคืนได้รับค่าทดแทนจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้วจำนวน 16,027,560 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 56456, 1882 ถึง 1885, 344, 1824 ขายไปในราคาตารางวาละ 18,750 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 1826 ขายไปในราคาตารางวาละ18,500 บาท การขายที่ดินมรดกยกเว้นโฉนดเลขที่ 1826 เสียค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ของราคาขาย
คดีมีปัญหาชั้นฎีกาข้อแรกว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1823, 1825 ขายไปราคาตารางวาละเท่าใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินมรดกมิได้ขายในราคาตารางวาละ 18,750 บาท ทุกแปลง โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 1823 และ 1825 ขายให้แก่บริษัทมหาวิศว์ จำกัดเป็นเงิน 86,315,625 บาท และ 11,712,937.50 บาท ตามลำดับ คิดเป็นเงินตารางวาละ 18,567.50 บาท เท่านั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาขายที่ดินที่ได้จัดทำขึ้น ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าวระหว่างจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ และนายนัน รุ่งสุวรรณ กับบริษัทมหาวิศว์ จำกัด มีรายละเอียดว่า จำเลยทั้งสองได้ตกลงขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1823, 1825 ตำบลลาดพร้าว อำเภอลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ให้แก่บริษัทมหาวิศว์ จำกัด ในราคา 86,315,625 บาท และ 11,712,937.50 บาท ตามลำดับ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1823 มีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา โฉนดเลขที่ 1825 มีเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา คำนวณแล้วที่ดินทั้งสองแปลงมีราคาขายตกตารางวาละ 18,562.50 บาท มิใช่ตารางวาละ 18,750 บาท ดังนั้นเมื่อรวมจำนวนเงินที่ขายที่ดินมรดกของนางสาวเคลิ้มและนายนัน กับเงินค่าทดแทนที่ได้จากการเวนคืนที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้ว จึงเป็นเงินทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 340,688,622.50 บาท ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อที่สองว่า จำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าที่ดินจากการขายที่ดินมรดกสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 344, 1823 ถึง 1825 เพียงราคาตารางวาละ 12,500 บาท และสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 56465, 1882 ถึง 1885 เพียงตารางวาละ 14,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาให้นายหน้าขายที่ดินในราคาดังกล่าว ส่วนที่เกินจากนั้นให้นายหน้ารับไป และทายาทได้ให้ความยินยอมแล้วในปัญหาข้อนี้ จำเลยทั้งสองมีนายสุวรรณ น้อยคง เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นบุตรของนายสายหยุด น้อยสุขกับนางจำปี น้อยสุข นายสายหยุดเป็นบุตรของนางแต้ม น้อยสุข ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก ในการขายที่ดินมรดกนั้น จำเลยทั้งสองได้ตกลงกับนายหน้าว่าจะให้ค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ และให้นายหน้าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 344 ในราคาตารางวาละ 12,500 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 56645 ในราคาตารางวาละ 14,000 บาท หากขายได้เกินกว่านั้นก็ให้นายหน้าได้รับเงินส่วนที่เกินไป จำเลยทั้งสองได้ทำบัญชีแสดงจำนวนเงินที่ขายได้และบัญชีหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ พร้อมกับบันทึกในการยกยอมให้หักค่าใช้จ่ายให้ทายาททุกคนลงชื่อไว้ตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 ในสายของพยานซึ่งเป็นทายาทของนางแต้มได้ลงชื่อให้ความยินยอมไว้ตามเอกสารหมาย ล.6 นายบาง เอี่ยมอ่อน พยานจำเลยทั้งสองอีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และเป็นนายหน้าคนหนึ่งในการขายที่ดินมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 344มีข้อตกลงให้ขายตารางวาละ 12,500 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 56465 ตกลงขายตารางวาละ 14,000 บาท นายหน้าจะได้ค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ และหากขายได้ราคาเกินกว่านั้นส่วนที่เกินไปตกได้แก่นายหน้าพยานได้รับค่านายหน้าในการขายที่ดินมรดกประมาณ 20,000,000 บาท ค่านายหน้าจำนวน 10,816,312 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นค่านายหน้าในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขาย เห็นว่าตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นบันทึกแสดงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายในการจัดการมรดกส่วนเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 เป็นบันทึกยินยอม เพื่อแสดงว่าทายาทผู้ลงลายมือชื่อท้ายบันทึกได้ยินยอมให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการขายมรดก เพื่อนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาทและยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายในเอกสารหมาย ล.2 และหมาย ล.4 ถึง ล.9 มีรายการตรงกัน ค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ ในเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 คือค่านายหน้าจำนวน 10,816,312 บาท ในเอกสารหมาย ล.2 ตามเอกสารดังกล่าวมิได้มีรายละเอียดแสดงถึงค่านายหน้าในส่วนอื่นไว้แต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่านอกจากค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังมีค่านายหน้าในส่วนที่ขายที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 344 ได้เกินกว่าตารางวาละ 12,500 บาท และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 56465 ได้เกินกว่าตารางวาละ 14,000 บาทอีก ดังนั้น เมื่อผู้จัดการมรดกขายที่ดินมรดกได้จำนวนเท่าใดเมื่อหักค่านายหน้า 5 เปอร์เซ็นต์ แล้ว จำนวนเงินที่เหลือต้องนำมาจัดสรรแบ่งปันแก่ทายาท ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยทั้งสองฎีกาข้อที่สามว่า ค่าภาษี ค่าธรรมเนียม และอากรแสตมป์ เกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกเป็นเงิน 5,998,277 บาท ตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.2แม้จะมีพยานหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.14 ถึง จ.29 ระบุเกี่ยวกับค่าภาษีค่าธรรมเนียม และอากรแสตมป์เป็นเงิน 5,630,164 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่การโอนที่ดินย่อมมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่ปรากฏหลักฐานและโจทก์ก็มิได้คัดค้าน เงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่จำเลยทั้งสองอ้างจึงเป็นจำนวนที่ถูกต้อง ส่วนค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดก ค่าทนายความ ค่าสร้างศาลาการเปรียญและค่าจัดการศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดตามเอกสารหมาย ล.2และ ล.4 ถึง ล.9 ทายาทส่วนใหญ่ให้ความยินยอมแล้ว จำเลยทั้งสองจึงหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากกองมรดกได้ เห็นว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกนั้นจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปจริงและเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระตามกฎหมายจึงสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากกองมรดกได้ แม้การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอาจจะมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างแต่เมื่อไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าได้เสียไปจริงและเป็นสิ่งที่ต้องชำระตามกฎหมายแล้วถึงโจทก์มิได้คัดค้าน จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักจากกองมรดกได้สำหรับค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดก ค่าทนายความ ค่าสร้างศาลาการเปรียญและค่าจัดการศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ถึง ล.9 มีรายละเอียดว่าค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดก 2 คน คนละ 5,000,000 บาท รวม 10,000,000 บาท ค่าทนายความ 4 คดี 49,300,000 บาท ค่าทำบุญสร้างศาลาการเปรียญและจัดการศพเป็นเงิน 6,800,000 บาท ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น 239,221 บาท ในส่วนค่าบำเหน็จผู้จัดการมรดกนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1721 ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ คดีนี้เจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นทายาทส่วนใหญ่ให้ความยินยอมแล้วนั้น นายสุวรรณ น้อยสุข ซึ่งเป็นทายาทสายนางแต้ม น้อยสุข พยานจำเลยเบิกความว่า บันทึกยินยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย ล.4 พยานไม่เกี่ยวข้องด้วยและการตกลงให้บำเหน็จแก่จำเลยทั้งสองในการจัดการมรดกพยานก็ไม่รู้เห็นด้วยในขณะที่ทำการตกลง แต่ทราบจากเอกสารนายบาง เอี่ยมอ่อน บุตรจำเลยที่ 2 ทายาทสายนางพ่วง เอี่ยมอ่อน พยานจำเลยเบิกความว่าในการขายที่ดินมรดกจำเลยทั้งสองจะได้มีการตกลงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายค่าบำเหน็จ และค่าทนายความอย่างไรหรือไม่พยานไม่ทราบ จำเลยที่ 1 เบิกความว่าในการตกลงค่าบำเหน็จการจัดการมรดกมีการพูดคุยระหว่างทายาทของเจ้ามรดกเพียง 9 คน เท่านั้น ดังนั้นในส่วนของค่าบำเหน็จในการจัดการมรดกจึงรับฟังไม่ได้ว่าทายาทจำนวนข้างมากได้ยินยอมแล้ว ส่วนค่าทนายความ ค่าทำบุญสร้างศาลาการเปรียญค่าจัดการศพและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกมิได้ทำบัญชีค่าใช้จ่ายตามหน้าที่ของตน ว่ามีรายละเอียดในการจ่ายเงินอย่างไร ค่าทนายความได้จ่ายแก่ทนายความกี่คนคนละเท่าใด มีจำนวนคดีที่ทนายแต่ละคนรับผิดชอบกี่คดีเหตุใดต้องจ่ายค่าทนายความสูงถึง 49,300,000 บาท ค่าสร้างศาลาการเปรียญก็ไม่มีรายละเอียดว่าได้ว่าจ้างบุคคลใดหรือนิติบุคคลใดก่อสร้าง มีการทำสัญญาว่าจ้างอย่างไรศาลาการเปรียญที่จัดสร้างมีลักษณะแบบไหน ส่วนค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นก็มิได้มีหลักฐานว่าจ่ายในเรื่องอะไรบ้าง และจ่ายให้แก่ใคร รวมทั้งทนายความที่เป็นผู้รับเงินค่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างศาลาการเปรียญจำเลยทั้งสองก็มิได้มีหลักฐานเอกสารการรับเงินมาแสดง และมิได้นำตัวบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยานยืนยันว่าได้รับเงินจากจำเลยทั้งสองไปแล้ว จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจริง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า ทายาทส่วนใหญ่ให้ความยินยอมไว้แล้วตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 นั้น ปรากฏว่าเจ้ามรดกทั้งสองมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 7 คน พี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่มีนางแต้ม น้อยสุขและนางมูล วงษ์เพ็ง ผู้ถึงแก่กรรมก็มีผู้รับมรดกแทนที่ ยกเว้นนางสาวเพียร ทายาทแต่ละสายมีผู้รับมรดกหลายคน ตามบัญชีเครือญาติเอกสารหมาย ล.1 สายนางโหมด กลั่นหอมมีผู้รับมรดกแทนที่ 9 คน รวมทุกสายแล้วมีทายาทหลายสิบคน แต่ตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.9 ซึ่งเป็นบันทึกความยินยอมของทายาทนั้น บันทึกดังกล่าวเป็นสำเนาภาพถ่ายเอกสาร รายชื่อทายาทบางคนเลอะเลือนไม่สามารถอ่านได้ ทายาทที่ลงลายมือชื่อบางคนก็ไม่ได้ความว่าเป็นทายาทสายไหนและเป็นทายาทจริงหรือไม่ บางคนก็มาลงชื่อแทนทายาท เช่น ตามเอกสารหมาย ล.4 นางทองย้อย ชื่นจิตร์ ลงชื่อในฐานะทายาทแต่ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าเป็นทายาทสายไหน และมีนางป้อม สุขบรรจง มาลงชื่อแทนนางแย้ม นามสกุลอ่านไม่ออก ไม่ได้ความว่านางแย้มเป็นทายาทสายใด ตามเอกสารหมาย ล.5 นายวิเชียร ด้วงอุไร ผู้ลงลายมือชื่อในฐานะทายาทก็มิใช่ทายาทสายนางจั่น ด้วงอุไร สายนางแต้ม น้อยสุข มีทายาท 8 คน ก็มีทายาทมาลงชื่อในบันทึกยินยอมในเอกสารหมาย ล.6 เพียง 5 คน ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อไม่ชัดไม่สามารถอ่านได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าทายาทส่วนใหญ่ให้ความยินยอมให้จำเลยทั้งสองหักค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.4 ถึง ล.9 แล้ว แต่สำหรับค่าจัดการศพซึ่งรวมอยู่ในค่าทำบุญสร้างศาลาการเปรียญจำนวน 6,800,000 บาท นั้น เนื่องจากการจัดการศพเป็นสิ่งจำเป็นอันต้องจัดการตามจารีตประเพณีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้จัดการมรดกย่อมนำมาหักจากกองมรดกก่อนแบ่งปันแก่ทายาทได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบว่าค่าจัดการศพมีจำนวนเท่าใด จึงเห็นสมควรกำหนดให้ 300,000 บาท ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
จำเลยทั้งสองฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกแล้วโดยโจทก์เป็นทายาทสายนางโหมด กลั่นหอม ซึ่งมีนายชม กลั่นหอม และพันจ่าอากาศเอกฐิติดุลย์ธงชนก เป็นตัวแทนสายมารับเงินไปแบ่งแก่ทายาท เมื่อปรากฏว่าทายาทในสายนี้ได้รับเงินมรดกไปแล้วคนละ 2,529,780 บาท ดังนั้นหากโจทก์จะได้รับมรดกโจทก์ก็ควรจะได้รับเพียงจำนวนดังกล่าวเท่านั้น ในปัญหาว่าโจทก์ได้รับเงินส่วนแบ่งมรดกหรือไม่นั้นศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยโดยละเอียดและถูกต้องแล้วว่า โจทก์ยังไม่ได้รับส่วนแบ่งมรดกฎีกาจำเลยทั้งสองปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่า การที่ทายาทในสายเดียวกันกับโจทก์จะยอมรับเงินทรัพย์มรดกจำนวนเพียงใดก็เป็นเรื่องเฉพาะของทายาทแต่ละคน เมื่อโจทก์ยังมิได้รับทรัพย์มรดกสิทธิของโจทก์จะมีเพียงใดย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมาย คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยมาแล้วว่าทรัพย์มรดกมีจำนวน 340,688,622.50 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินมรดกจำนวน 5,630,164 บาท ค่านายหน้าจำนวน 10,816,312 บาท และค่าจัดการศพจำนวน 300,000 บาท แล้ว คงเหลือ 323,942,146.50 บาท โจทก์มีสิทธิรับมรดก 1 ใน 54 ส่วน คิดเป็นเงิน 5,998,928.64 บาท โดยเป็นทรัพย์มรดกของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ และนายนัน รุ่งสุวรรณ คนละส่วนเท่ากันเป็นเงิน2,999,464.32 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 แบ่งเงินมรดกของนางสาวเคลิ้ม รุ่งสุวรรณ จำนวน 2,999,464.32 บาท และจำเลยที่ 2 แบ่งเงินมรดกของนายนัน รุ่งสุวรรณ จำนวน 2,999,464.32 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 30,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์