คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยขัดขวางการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ เอกสารที่จำเลยมอบอำนาจให้ตัวแทนในประเทศไทยดำเนินการในเรื่องคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงมิใช่เอกสารตามที่กฎหมายต้องการดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 หากแต่เป็นเรื่องที่จะต้องใช้ในการนำสืบเมื่อจำเลยปฏิเสธ แต่เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธคำฟ้องที่ว่าจำเลยตั้ง ป.เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจในเรื่องนี้ จึงต้องฟังดังที่โจทก์ฟ้อง
จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศได้ตั้งให้ ป.ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยโดยระบุสถานที่ส่งบัตรหมายถึงจำเลยในประเทศไทยไว้ในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยว่าให้ส่งที่ตัวแทน ตามที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 10 กำหนดไว้ ถือได้ว่าจำเลยได้เลือกเอาภูมิลำเนาของ ป.ตัวแทนของจำเลยเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อกระทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 49 ดังนั้น โจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้แก่ ป.ตัวแทนของจำเลยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
กรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เช่นเดียวกันถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์แล้วว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของตน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 17 วรรคแรก ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55.

Share