แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเข้าร่วมโครงการของจำเลยทั้งสองเป็นการเข้าทำสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองในลักษณะสัญญาไม่มีรูปแบบซึ่งเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ขนส่งมันสำปะหลังไปยังผู้ส่งออกตามที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ การที่จำเลยทั้งสองขนส่งมันสำปะหลังไปยังบริษัท อ. ซึ่งมิใช่ผู้ส่งออกตามทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 กรณีถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญาเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่นำมันสำปะหลังอัดเม็ดไปส่งให้บริษัทที่มิใช่ผู้ส่งออกตามทะเบียนผู้ส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 ทำให้ปริมาณมันสำปะหลังยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดภายในประเทศทำให้ราคาขายมันสำปะหลังไม่เพิ่มสูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและการที่จำเลยทั้งสองรับเงินชดเชยค่าขนส่งจากโจทก์ทั้งสองทั้งสองครั้งไปโดยไม่ถูกต้องนั้น จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิรับเงินชดเชยค่าขนส่งดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด กรณีการฟ้องเรียกเงินคืนของโจทก์ทั้งสองมิใช่การเรียกคืนในฐานะลาภมิควรได้แต่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้นอายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา เมื่อโจทก์ที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 นำเงินดังกล่าวมาคืน และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 29 เมษายน 2541 โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 จึงเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,670,968.51 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,882,621 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ทั้งสองขาดอายุความฟ้องร้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 เข้าร่วมโครงการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังปี 2540 นั้น โจทก์ทั้งสองมีวัตถุประสงค์ในการยกระดับราคาหัวมันสำปะหลังให้มีราคาสูงขึ้นกว่าราคาท้องตลาดซึ่งขณะนั้นมีราคาตกต่ำ จึงมีโครงการดังกล่าวขึ้นโดยโจทก์ทั้งสองต้องการให้ผู้เข้าร่วมโครงการขนส่งมันสำปะหลังไปส่งให้ผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 เพื่อให้บริษัทผู้ส่งออกดังกล่าวสามารถส่งมันสำปะหลังอัดเม็ดออกไปยังต่างประเทศได้ในปริมาณสูงอันจะทำให้มีปริมาณหัวมันสำปะหลังภายในประเทศมีจำนวนลดน้อยลงและจะทำให้ราคาตลาดของหัวมันสำปะหลังภายในประเทศมีราคาเพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล จึงกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินให้ผู้ร่วมโครงการในลักษณะเงินชดเชยค่าขนส่งเพื่อให้ผู้ร่วมโครงการขนส่งมันสำปะหลังอัดเม็ดจากผู้ผลิตไปขายยังผู้ส่งออกต่างประเทศ การที่จำเลยทั้งสองเข้าร่วมโครงการดังกล่าวโดยทราบเงื่อนไขของโครงการที่โจทก์ทั้งสองจัดทำขึ้นนั้นโดยจำเลยทั้งสองทราบว่า จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโจทก์ทั้งสองคือการขนส่งมันสำปะหลังอัดเม็ดไปยังผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตในปี 2540 เท่านั้น และโจทก์ทั้งสองจะจ่ายเงินชดเชยค่าขนส่งให้แก่จำเลยทั้งสอง การเข้าร่วมโครงการของจำเลยทั้งสองถือว่าเป็นการเข้าทำสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองในลักษณะสัญญาไม่มีรูปแบบซึ่งเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ขนส่งมันสำปะหลังไปยังผู้ส่งออกตามที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ การที่จำเลยทั้งสองขนส่งมันสำปะหลังไปยังบริษัทอินฟินิตี้ ออฟ ไอเดีย จำกัด ซึ่งมิใช่ผู้ส่งออกตามทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 กรณีถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดสัญญาเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่นำมันสำปะหลังอัดเม็ดไปส่งให้บริษัทที่มิใช่ผู้ส่งออกตามทะเบียนผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรับอนุญาตปี 2540 ทำให้ปริมาณมันสำปะหลังยังคงหมุนเวียนอยู่ในตลาดภายในประเทศทำให้ราคาขายมันสำปะหลังไม่เพิ่มสูงขึ้นตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลและการที่จำเลยทั้งสองรับเงินชดเชยค่าขนส่งจากโจทก์ทั้งสองทั้งสองครั้งไปโดยไม่ถูกต้องเป็นเงินรวม 1,882,621 บาทนั้น จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิรับเงินชดเชยค่าขนส่งจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด กรณีการฟ้องเรียกเงินคืนของโจทก์ทั้งสองมิใช่การเรียกคืนในฐานะลาภมิควรได้แต่เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้เป็นกรณีพิเศษจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ดังนั้นอายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา เมื่อโจทก์ที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 นำเงินดังกล่าวมาคืน และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 29 เมษายน 2541 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 เช่นนี้ จึงเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความและเมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและรับเงินตามฟ้องจากโจทก์ไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินต้นดังกล่าวที่รับไปจากโจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 29 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 1,882,621 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 788,347.51 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท