คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อ อ. เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีคำสั่งให้นายชวลิต และนายบุญช่วย ลูกจ้างโจทก์ขับรถเครนไปยกของที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ระหว่างเดินทางรถเครนถูกโจรกรรมและลูกจ้างทั้งสองหายตัวไป ต่อมานางอมรรัตน์ ภรรยาของนายชวลิตยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง นางอมรรัตน์จึงอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติกลับคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 โดยวินิจฉัยว่านายชวลิตสูญหายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากนายชวลิตไม่ได้สูญหายเนื่องจากการทำงาน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 7 ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน 339,840 บาท และต้องเรียกเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นจากโจทก์ด้วย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 108/2553 และพิพากษาว่านายชวลิต ไม่ได้สูญหายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้อุทธรณ์ตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ที่จะมีอำนาจนำคดีมาสู่ศาลแรงงานเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 52 กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ซึ่งได้รับคำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการประเมินเงินสมทบของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้แล้วไม่พอใจคำสั่ง คำวินิจฉัย หรือการประเมินเงินสมทบนั้นให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน และมาตรา 53 กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงาน แม้โจทก์อาจได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยเรียกเก็บเงินสมทบจากโจทก์เข้ากองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้นดังที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อได้ข้อเท็จจริงจากคำฟ้องว่า นางอมรรัตน์ เป็นผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากจำเลย และเป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จนคณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยที่ 108/2553 โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้อุทธรณ์ที่จะมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและมีคำสั่งไม่รับฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share