แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ก็เพื่อกำหนดมาตรการต่างๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง และไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่คดีอาญา ย่อมไม่อยู่ในบังคับอายุความทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 แต่เป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปโดยให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทางแพ่ง กรณีย่อมไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2560)
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ คือ 1. ที่ดินโฉนดเลขที่ 1071 เนื้อที่ 3 งาน ราคาประเมินตารางวาละ 42,000 บาท เป็นเงิน 12,600,000 บาท มีชื่อนางยุพเรศ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 2. ที่ดินโฉนดเลขที่ 2036 เนื้อที่ 1 งาน ราคาประเมินตารางวาละ 42,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,200,000 บาท มีชื่อนางยุพเรศ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ 3. ตึก 2 ชั้น 1 หลัง เลขที่ 473/6 พร้อมสระว่ายน้ำ ราคา 12,000,000 บาท ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1071 และ 2036 มีชื่อนายศุภลักษณ์ เป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน 4. ที่ดินโฉนดเลขที่ 185077 เนื้อที่ 52 ตารางวา ราคาประเมินตารางวาละ 17,000 บาท เป็นเงิน 884,000 บาท มีชื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ 5. ตึก 2 ชั้น 1 หลัง เลขที่ 247/22 ราคา 2,000,000 บาท ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 185077 ของผู้คัดค้านที่ 2 รวมเป็นเงิน 31,684,000 บาท ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย นายธีรพล บุตรผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ทรัพย์สินพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า บริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ มีนายวีระนนท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2526 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2536 ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยานายวีระนนท์และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท คือวันที่ 23 สิงหาคม 2519 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2529 และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2520 ถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2529 ผู้คัดค้านที่ 2 น้องชายวีระนนท์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท มีหน้าที่ดูแลกิจการของบริษัทจนถึงปี 2536 ก่อนโอนกิจการให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2536 และวันที่ 13 พฤษภาคม 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจและผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ กล่าวโทษนายวีระนนท์ ผู้คัดค้านทั้งสองกับพวก เนื่องจากตรวจสอบพบว่ากรรมการบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด กระทำทุจริตเป็นเหตุให้บริษัทและผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2,399,400,000 บาท ด้วยการปลอมตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทอื่น 25 บริษัท ปลอมสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันของบริษัทอื่น 4 บริษัท ปลอมสัญญากู้ยืม สัญญาค้ำประกัน และตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทอื่น 1 บริษัท และลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท แล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวด้วยการออกเช็คของบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ไปเข้าบัญชีของนายวีระนนท์และผู้อื่น อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี, 75 จัตวา, 75 สัตต, 75 อัฏฐ, 75 ทศ, 75 เอกาทศ และ 75 ทวาทศ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 238, 296 และ 312 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266 และ 268
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อแรกว่า ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ตามที่ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกาก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ว่าทรัพย์สินตามคำร้องนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ โดยมิพักต้องคำนึงว่าเจ้าของทรัพย์สินนั้นถูกฟ้องคดีอาญาหรือไม่ และได้กระทำความผิดตามมูลฐานหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากพยานผู้ร้องว่า มีการปลอมสัญญากู้ยืม สัญญาค้ำประกัน และตั๋วสัญญาใช้เงิน และลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท แล้วเบียดบังเอาเงินของบริษัทไป จนเป็นเหตุให้บริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2,399,400,000 บาท ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำโดยทุจริตตามคำร้อง คงโต้แย้งแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งกระทำโดยกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (4)
หากบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่นายวีระนนท์ ในฐานะผู้บริหาร และผู้คัดค้านที่ 1 ต้องทำหนังสือลงวันที่ 15 มีนาคม 2536 ยอมรับว่าผู้บริหารเดิมกระทำความเสียหาย และต้องชำระเงินแก่บริษัทเป็นเงิน 3,923,474,840.20 บาท พร้อมดอกเบี้ย 240,842,661.01 บาท และบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด โดยนายวีระนนท์และผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำหนังสือลงวันที่ 15 มีนาคม 2536 ขอรับความช่วยเหลือมายังกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยยอมรับว่าผู้บริหารเดิมได้กระทำความเสียหายแก่บริษัท และยอมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนผู้คัดค้านทั้งสองไม่ได้โต้แย้งการทำเอกสารยอมรับผิดดังกล่าว
ทั้งนี้ ไม่ว่าการยอมรับผิดของนายวีระนนท์และผู้คัดค้านที่ 1 จะเกิดจากการกู้ยืมเงินในกลุ่มบริษัทใดก็ตาม เมื่อนายวีระนนท์และผู้คัดค้านที่ 1 ทำหนังสือยอมรับผิดชอบดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่ามีการเรียกเก็บเงินตามเช็คเข้าบัญชีของบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด แล้ว แสดงว่าในวันที่ 15 มีนาคม 2536 บริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด ยังคงได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยทุจริตในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัทเงินทุน เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยานายวีระนนท์ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทในขณะเกิดเหตุทุจริตตามความผิดมูลฐาน ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายนายวีระนนท์และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของบริษัทในช่วงเวลาที่มีการกระทำโดยทุจริต ผู้คัดค้านทั้งสองจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายวีระนนท์ ผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ทรัพย์สินตามคำร้องที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าเป็นเจ้าของนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสาม สำหรับทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 3 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1071, 2036 และตึกเลขที่ 473/6 ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าได้มาเมื่อปี 2537 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ให้นางยุพเรศเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ส่วนนายวีระนนท์ให้นายศุภลักษณ์ซึ่งทำงานเป็นคนขับรถให้นายวีระนนท์เป็นผู้มีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า นายวีระนนท์และผู้คัดค้านที่ 1 มีเจตนาปกปิดทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 3 ส่อแสดงว่าเป็นการได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สุจริต เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไม่นำสืบถึงที่มาของเงินที่นำไปซื้อทรัพย์สินรายการที่ 1 ถึงที่ 3 ว่าได้มาจากแหล่งเงินใดโดยสุจริต พยานผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนทรัพย์สินรายการที่ 4 และที่ 5 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 185077 และตึกเลขที่ 247/22 ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวนั้น ส่วนที่มาของที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 นั้น ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 12221 ว่า เดิมนายวีระนนท์ซื้อที่ดินดังกล่าวเมื่อปี 2521 ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2535 นายวีระนนท์ยกที่ดินให้นายมงคล ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2535 นายมงคลยกที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วผู้คัดค้านที่ 2 ขายที่ดินให้ผู้อื่น แสดงว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 เป็นของนายวีระนนท์ และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาขณะเป็นผู้บริหารของบริษัท เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ไม่นำสืบว่า ที่มาของเงินที่นายวีระนนท์ใช้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 ได้มาจากแหล่งเงินใดโดยสุจริต จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 เปลี่ยนสภาพไปเป็นเงิน 1,000,000 บาท และเงิน 1,000,000 บาท เปลี่ยนสภาพไปเป็นทรัพย์สินรายการที่ 4 และที่ 5 ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือหากที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 เดิมเป็นของนายมงคล แต่ให้ใส่ชื่อนายวีระนนท์เป็นเจ้าของแทนตามที่กล่าวอ้างในฎีกา ผู้คัดค้านที่ 2 ก็มีภาระที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเงินที่นายมงคลนำไปซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 นั้นได้มาจากแหล่งเงินใดโดยสุจริต เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ได้นำสืบถึงแหล่งที่มาของเงินที่นายมงคลใช้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 12221 พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ต่อไปว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากเห็นสมควรกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการตัดวงจรการประกอบอาชญากรรม จึงมีการกำหนดมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่พิจารณาคดีอาญา โดยกำหนดโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์ทางอาญา และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นความผิดมูลฐานมาตรา 3 ไว้และให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวกฎหมายบัญญัติให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง อันเป็นมาตรการของรัฐที่บังคับเอากับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งมุ่งต่อเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน หรือที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนซึ่งเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดทั้งดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทำให้การปราบปรามการฟอกเงินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ ก็สามารถดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการคนละส่วนกับมาตรการทางอาญาที่ดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงิน ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่คดีอาญา ย่อมไม่อยู่ในบังคับอายุความทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 แต่เป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินโดยมิชอบเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินไว้ได้ต่อไปโดยให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นหลักการและเหตุผลตามที่บัญญัติเพื่อป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากหนี้ที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการที่จะบังคับให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นการอันใดอันหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่สามารถบังคับกันได้ตามกฎหมายดังเช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงมิใช่เป็นการบังคับใช้สิทธิเรียกร้องที่ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความทางแพ่ง กรณีย่อมไม่อยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และนายวีระนนท์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว ผู้ร้องต้องไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ไม่อาจฟ้องเป็นคดีนี้ได้และคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 302/2547 ของศาลอาญา นั้น เห็นว่า ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำคัดค้าน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 56 วรรคท้าย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ ตามคำร้องพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ