คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9992/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อนๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี” การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดี เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย
การที่ ก. เป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทของผู้ตายตั้งแต่ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและภายหลังผู้ตายถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมาแต่เพียงผู้เดียว โดยโจทก์ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีนี้ขึ้นว่ากล่าวเอาแก่ ก. ซึ่งเป็นมารดาเพื่อขอแบ่งมรดกพิพาทจาก ก. แต่อย่างใด และเมื่อ ก. แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่ ก. ฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ซึ่งที่ดินดังกล่าวมีชื่อ ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตและ ก. ได้จดทะเบียนยกให้โจทก์นั้น โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าที่ดินทั้งห้าแปลงและที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายและ ก. และเป็นมรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ก. ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น นอกจากนี้ตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายของ ศ. ระบุเพียงว่า ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากในธนาคารเท่านั้น และ ศ. ก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว ผู้ตายไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะจัดการอีก อันเป็นข้อสนับสนุนว่า ก. ครอบครองทรัพย์มรดกพิพาทที่มีชื่อ ก. แต่ผู้เดียวโดย ศ. และทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินสิบปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธิ ก. ผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา 1755
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้ได้มรดกของพันเอกกาจ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1335, 78021 และ 7288 หนึ่งในเจ็ดส่วนให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนได้ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 3 แปลง เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของพันเอกกาจจำนวนหนึ่งในเจ็ดส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า นางกฐิน เป็นบุตรของหลวงแจ่มวิชาสอนและนางผิน ซึ่งประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายยาสีฟันวิเศษนิยม เมื่อหลวงแจ่มวิชาสอนและนางผินถึงแก่ความตาย กิจการดังกล่าวตกแก่บุตรและนางกฐินด้วย โจทก์และจำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของพันเอกกาจ กับนางกฐิน ซึ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2482 มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 7 คน คือ โจทก์ นายหาญ นางนิรมล นางถิระศิริ จำเลย นางศรีประไพ และนายวรกิจ ซึ่งถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2528 โดยไม่มีผู้สืบสันดาน นางกฐินมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหลายร้อยแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทคดีนี้ โดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2498 นางกฐินจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 เนื้อที่ 56 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา จากนายสุรินทร์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2504 นางกฐินจดทะเบียนซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 7288 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา จากนายศุภโชค วันที่ 17 กันยายน 2532 พันเอกกาจถึงแก่ความตาย วันที่ 2 ธันวาคม 2532 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งนางศรีประไพ เป็นผู้จัดการมรดกพันเอกกาจ วันที่ 28 ธันวาคม 2535 นางกฐินจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกไป 7 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 78015 ถึง 78021 คงเหลือที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 เพียง 5 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน มีชื่อนางกฐินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งออกโฉนดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 วันที่ 24 ตุลาคม 2550 นางกฐินจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335, 7288 และ 78021 รวมสามโฉนดให้แก่จำเลย เมื่อปี 2549 นางกฐินฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง อ้างว่าโจทก์เนรคุณ โจทก์ให้การต่อสู้คดีว่าไม่ได้เนรคุณ ขอให้ยกฟ้อง วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18347/2557 โดยพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง (ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นางกฐินถึงแก่ความตาย นางนิรมลและนางศรีประไพเข้าเป็นคู่ความแทน) เมื่อปี 2551 โจทก์ยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้มีคำสั่งว่านางกฐินเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งโจทก์เป็นผู้พิทักษ์ นางกฐินกับพวกรวม 6 คน ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ แต่หากศาลสั่งให้นางกฐินเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ก็ให้นางนิรมล (ผู้คัดค้านที่ 3) และจำเลย (ผู้คัดค้านที่ 5) เป็นผู้พิทักษ์ร่วมกัน ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางวินิจฉัยว่า นางกฐินอายุ 94 ปีเศษ แม้สามารถมาเบิกความต่อศาลได้ ได้ยินคำซักถามของทนายความและตอบคำถามของศาลและทนายความได้ แต่นางกฐินมีอายุมากแล้ว สายตามองไม่เห็นทั้งสองข้าง มีโรคประจำตัวหลายโรค และที่สำคัญไม่สามารถที่จะจัดทำการงานหรือกิจการด้วยตนเองตามลำพัง อาการดังกล่าวเข้าลักษณะมีกายพิการไม่สมประกอบ จึงมีคำสั่งให้นางกฐินเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยให้นางนิรมลและจำเลยเป็นผู้พิทักษ์ อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เบียดบังยักย้ายทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกจึงไม่ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก โจทก์ไม่ฎีกาหรือทำคำแก้ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสระหว่างพันเอกกาจ ผู้ตายกับนางกฐิน หรือเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 เนื้อที่ 56 ไร่ 3 งาน 45 ตารางวา (ขณะพิพาทกันคดีนี้มีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 18 ตารางวา) นางกฐินซื้อมาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2498 จึงเป็นการได้มาก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่บังคับใช้ ต้องถือว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนางกฐินและพันเอกกาจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม แม้ทางนำสืบของจำเลยจะอ้างว่า เงินที่นำมาซื้อที่ดินเป็นของตากับยายและของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงงานวิเศษนิยมให้นางกฐินมาซื้อ แต่ไม่ได้ความว่าเงินที่ให้มาซื้อนั้นเป็นการให้เป็นสินส่วนตัว จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1464 (3) เดิม แต่เป็นสินสมรสตามมาตรา 1466 เดิม เมื่อนำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินมา ที่ดินที่ซื้อมาจึงเป็นสินสมรส ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 เนื้อที่ 2 ไร่ 7 งาน เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 1335 แม้จะออกโฉนดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2536 ก็ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างนางกฐินและพันเอกกาจในขณะพันเอกกาจถึงแก่ความตาย โดยส่วนของพันเอกกาจย่อมเป็นมรดกของพันเอกกาจ เมื่อพันเอกกาจถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 ตามมาตรา 1625 (1) สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7288 เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา นางกฐินซื้อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2504 จึงเป็นการได้มาก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่บังคับใช้และเป็นการนำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินมาย่อมเป็นสินสมรสตามมาตรา 1466 วรรคหนึ่ง (เดิม) เช่นกัน ฎีกาของจำเลยประการแรกฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 และ 78021 กับ 7288 ขาดอายุความมรดกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพันเอกกาจถึงแก่ความตาย ต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างนางกฐินและพันเอกกาจซึ่งเป็นคู่สมรสชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 (1) ส่วนของพันเอกกาจกึ่งหนึ่งนั้น เมื่อพันเอกกาจไม่ได้ทำพินัยกรรมย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมคือนางกฐินซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายและบุตรอีก 6 คน ที่มีโจทก์และจำเลยรวมอยู่ด้วย ตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1629 โดยมีสิทธิได้รับมรดกคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน ซึ่งในการที่ทายาทจะเรียกร้องเอาส่วนแบ่งมรดกนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” และวรรคสี่ บัญญัติว่า”ถึงอย่างไรก็ดี สิทธิเรียกร้องตามที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย” แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อยกเว้นตามมาตรา 1748 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วก็ดี” แต่การที่ทายาทคนหนึ่งครอบครองทรัพย์มรดกไว้นั้นไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย การที่จะเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่นหรือครอบครองไว้เพื่อตนเองย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแต่ละคดีไป ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 189/2535 และ 2220/2552 เพราะหากถือว่าทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์มรดกด้วย อายุความตามมาตรา 1754 ก็ไม่อาจใช้บังคับได้เลย โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องและนำสืบว่า เมื่อพันเอกกาจถึงแก่ความตาย โจทก์ให้นางกฐินซึ่งเป็นมารดาครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกของพันเอกกาจที่ตกแก่โจทก์หนึ่งในเจ็ดส่วนแทนโจทก์ เห็นว่า โจทก์คงมีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุน คำเบิกความของโจทก์ที่ว่าให้นางกฐินซึ่งเป็นมารดาและเป็นทายาทคนหนึ่งครอบครองแทนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แต่ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าวเป็นการยอมรับว่า นางกฐินเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของพันเอกกาจ อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยว่านางกฐินครอบครองทรัพย์มรดกตั้งแต่ขณะที่พันเอกกาจมีชีวิตและภายหลังพันเอกกาจถึงแก่ความตายอย่างเป็นเจ้าของโดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวตลอดมา นอกจากนี้ขณะที่นางกฐินครอบครองทรัพย์มรดกแต่เพียงผู้เดียว โจทก์ก็ไม่เคยฟ้องหรือร้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีขึ้นว่ากล่าวเอาแก่นางกฐินซึ่งเป็นมารดาขอแบ่งมรดกจากนางกฐินแต่ประการใด และเมื่อนางกฐินแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1335 ออกเป็น 7 แปลง โดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 78021 รวมอยู่ด้วย โจทก์ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยิ่งกว่านั้นในคดีที่นางกฐินฟ้องขอให้เพิกถอนคืนการให้ที่ดินแก่โจทก์รวม 5 แปลง ตามคดีหมายเลขดำที่ 10289/2549 คดีหมายเลขแดงที่ 5372/2551 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งที่ดินดังกล่าวก็มีชื่อนางกฐินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ขณะที่พันเอกกาจยังมีชีวิตและนางกฐินได้จดทะเบียนยกให้แก่โจทก์นั้น โดยที่ดิน 2 แปลง ยกให้ขณะพันเอกกาจมีชีวิต อีก 3 แปลง ยกให้เมื่อพันเอกกาจถึงแก่ความตายและยังมีที่ดินอื่นที่โจทก์ได้รับยกให้หลายแปลง แต่ขายไปบางแปลงได้เงินมา 400,000,000 บาท ซึ่งโจทก์ยอมรับว่า นางกฐินได้ให้การดังกล่าวจริง โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งเลยว่าที่ดินทั้งห้าแปลง และที่ดินที่ขายไปเป็นสินสมรสระหว่างพันเอกกาจและนางกฐินและเป็นมรดกของพันเอกกาจกึ่งหนึ่งอันจะตกแก่โจทก์ที่เป็นทายาทและทายาทอื่นด้วย ประกอบกับนางกฐินก็ไม่เคยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกกาจรวมทั้งไม่เคยเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกกาจอันจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น แม้นางศรีประไพ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งจะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกกาจและศาลมีคำสั่งตั้งนางศรีประไพเป็นผู้จัดการมรดกของพันเอกกาจก็ตาม แต่นางศรีประไพไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกพิพาททั้งก่อนและหลังที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งตามคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีประไพก็ระบุเพียงว่า พันเอกกาจมีทรัพย์มรดกคือ เงินฝากในธนาคารเท่านั้น และนางศรีประไพก็เบิกความยืนยันว่า ได้จัดการแบ่งเงินทรัพย์มรดกของพันเอกกาจเสร็จสิ้นไปแล้ว พันเอกกาจไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากเงินฝากในธนาคารที่จะจัดการอีก ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า นางกฐินครอบครองทรัพย์มรดกที่มีชื่อนางกฐินแต่ผู้เดียวโดยนางศรีประไพและทายาทอื่นไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง พันเอกกาจถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 เกินกำหนดสิบปี คดีโจทก์ขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จำเลยเป็นผู้สืบสิทธินางกฐินผู้เป็นทายาทย่อมมีสิทธิยกอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 1755 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เพราะจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการมรดกและไม่ใช่ผู้รับโอนที่ดินทรัพย์มรดกจากผู้จัดการมรดก แต่รับโอนจากนางกฐินที่ไม่ได้ครอบครองแทนทายาทจนสิทธิของทายาทอื่นขาดอายุความแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1335, 78021 และ 7288 ไม่ขาดอายุความมรดกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share