คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 937/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 จ้าง ซ. ขนอิฐไปส่งให้โจทก์ ซ.ใช้รถยนต์บรรทุกขนอิฐไป โดยจำเลยที่ 1 เป็นคนขับ จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทชนรถจิ๊ปของโจทก์เสียหาย และพนักงานของโจทก์บาดเจ็บ จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ขายอิฐให้โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันนั้นกับ ซ.ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ด้วย ถึงแม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ซ.แต่กลับมาฟ้องจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือผู้แทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 ก็หาหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับ ซ.ไม่ เพราะโจทก์ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 4 ได้โดยตรงอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างขับรถยนต์เลขทะเบียน ส.บ.๐๒๐๓๘ ของจำเลยที่ ๒ หรือบุคคลอื่นที่เข้ามาร่วมกิจการกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ขนอิฐบล๊อก ซี.เอ็ม เป็นประจำ จำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันวินาศภัยรถยนต์คันดังกล่าว
เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๑ ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกอิฐบล๊อก ซี.เอ็ม ของจำเลยที่ ๓ ไปส่งที่โรงานของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถยนต์จี๊ปหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฐ – ๓๘๓๗ ของโจทก์ที่นายวันชัย นรามณฑล ขับสวนมา เสียหายเป็นเงิน ๓๘,๐๐๐ บาท นายสำราญได้รับบาดเจ็บ รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น ๔๒,๘๘๐ บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ ๑ ขาดนัดพิจารณาด้วย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าไม่ได้เป็นเจ้าของรถหมายเลขทะเบียน ส.บ.๐๒๐๓๘ และไม่ได้นำรถคันดังกล่าวไปประกันภัยกับจำเลยที่ ๔ จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ไม่เคยขนอิฐบล๊อก ซี.เอ็ม ให้จำเลยที่ ๓ เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของพนักงานของโจทก์ รถยนต์โจทก์เสียหายไม่เกิน ๑๕,๐๐๐ บาท นายสำราญมิได้มอบหมายให้โจทก์ฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าไม่มีส่วนในการละเมิด รถชนกันเพราะความประมาทของพนักงานโจทก์ ค่าซ่อมรถจี๊ปไม่ถึง ๒,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย
ในวันสืบพยานโจทก์แถลงว่า รถคันเกิดเหตุเป็นรถของบุคคลภายนอกซึ่งเข้ามาร่วมกิจการขนส่งของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิด จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ แต่เป็นลูกจ้างของบุคคลที่เป็นเจ้าของรถคันนั้น จำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ ยอมรับว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายดนัยฟ้องคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหาย ๑๒,๓๘๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๑๓ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้ออิฐบล๊อก ซี.เอ็ม จากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ ได้จ้างนายเซี้ยง แซ่ตั้ง ขนอิฐไปส่งให้โจทก์ นายเซี้ยงใช้รถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน ส.บ.๐๒๐๓๘ ขนอิฐ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นคนขับ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถจี๊ปเลขทะเบียน ก.ท.ฐ. – ๓๘๓๗ ของโจทก์เสียหาย นายสำราญที่นั่งมาในรถยนต์จี๊ปได้รับบาดเจ็บ คดีมีประเด็นจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพียงใด จำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
ประเด็นข้อแรกเรื่องความเสียหายนั้น เห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นจำนวนที่สมควรแล้ว
ประเด็นเรื่องจำเลยที่ ๒,๓ และ ๔ จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น จำเลยนำสืบว่ารถยนต์บรรทุกคันที่เกิดเหตุเป็นของนายเซี้ยง โจทก์เองก็ได้แถลงรับต่อศาลว่ารถยนต์คันนี้ไม่ใช่ของจำเลยที่ ๒ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นอันฟังได้ตามที่จำเลยสืบ ปัญหาคงมีต่อไปว่านายเซี้ยงได้เอารถยนต์คันนี้เข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่ ๒ ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ข้อนี้โจทก์สืบไม่ได้ ทางจำเลยมี นายเซี้ยงเจ้าของรถ และนายสำราญ วงศ์วรรณ ผู้จัดการจำเลยที่ ๓ มาสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ไม่เคยติดต่อจ้างจำเลยที่ ๒ ขนอิฐบล๊อก แต่จ้างนายเซี้ยง ดังนี้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งรายนี้แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นเป็นเพียงผู้ขายอิฐบล๊อกให้โจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด คนที่ต้องรับผิดก็คือนายเซี้ยงผู้รับข้างขนอิฐบล๊อกไปส่งให้โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จึงชอบแล้ว แต่สำหรับจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกเลขทะเบียน ส.บ.๐๒๐๓๘ กับนายเซี้ยงนั้น ถึงโจทก์จะไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายเซี้ยง จำเลยที่ ๔ ก็หาหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาที่ได้ทำกับนายเซี้ยงไม่ เพราะโจทก์ผู้ต้องความเสียหายชอบจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๔ ได้โดยตรงอยู่แล้ว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ วรรคสอง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ ๔ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยรวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ฎีกาแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒ ศาล รวม ๕๐๐ บาท ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๓๐๐ บาทแทนจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share