คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 293/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นสามีได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันซึ่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นภริยาทำไว้กับโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้สัญญาค้ำประกันนั้นในส่วนที่ผูกพันสินบริคณห์ตกเป็นโมฆะ แต่ยังสมบูรณ์อยู่เฉพาะในส่วนที่ผูกพันสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 โจทก์จะต้องบังคับชำระเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 หากสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2ไม่มีหรือมีไม่พอ และโจทก์ประสงค์จะบังคับชำระหนี้เอาจากส่วนของจำเลยที่ 2 ในสินบริคณห์ โจทก์ต้องร้องต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้องเสียก่อนแล้วจึงนำยึดส่วนของจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้โจทก์จะนำยึดสินบริคณห์ก่อนขอแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่าโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่นา ๑ แปลงโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ที่นาดังกล่าวมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจงการครอบครองที่ดิน ผู้ร้องกับจำเลยที่ ๒ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่พิพาทเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ ๑ กู้ไปจากโจทก์โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นยินยอม สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆียะผู้ร้องทราบเรื่องและได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันทันที สัญญาค้ำประกันย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันสินบริคณห์
โจทก์ให้การว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ โจทก์อาจบังคับคดีจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันผู้ร้องมีสิทธิเพียงร้องขอให้กันส่วนของตนในทรัพย์พิพาทออกเท่านั้น
ศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยฟังว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส โจทก์มีสิทธินำยึดทรัพย์พิพาทได้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์จะยึดทรัพย์พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ก่อนขอแยกออกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟัง เป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๐๔)
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ย่อมนำยึดขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องเป็นสามี ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลให้กันส่วนที่เป็นของผู้ร้องไว้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นสามีได้บอกล้างสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นภริยาทำไว้กับโจทก์แล้วย่อมมีผลทำให้สัญญาค้ำประกันในส่วนที่ผูกพันสินบริคณห์ตกเป็นโมฆะ แต่ยังสมบูรณ์อยู่เฉพาะในส่วนที่ผูกพันสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ เพราะหญิงมีสามีนั้นในส่วนที่เกี่ยวด้วยสินส่วนตัว ย่อมมีฐานะอย่างบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะ เป็นแต่เมื่อไม่ได้รับอนุญาตของสามี หาอาจทำการอันใดอันหนึ่งที่ผูกพันสินบริคณห์ได้ไม่เท่านั้น ในกรณีเช่นนี้จำเลยที่ ๒ จะต้องใช้หนี้ด้วยสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ใช้จากสินบริคณห์ที่เป็นส่วนของตนฉะนั้นในการบังคับชำระหนี้ โจทก์จะต้องบังคับชำระเอาจากสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ จะนำยึดสินบริคณห์มาบังคับชำระหนี้หาได้ไม่ เพราะหนี้ของจำเลยที่ ๒ ไม่ผูกพันสินบริคณห์หากสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ไม่มีหรือมีไม่พอและโจทก์ประสงค์จะบังคับชำระหนี้เอาจากส่วนของจำเลยที่ ๒ ในสินบริคณห์โจทก์ต้องร้องขอต่อศาลให้แยกสินบริคณห์ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับผู้ร้องออกเป็นส่วนของจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเสียก่อนอันมีผลให้ส่วนของจำเลยที่ ๒ ที่แยกออกนั้นเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ ซึ่งโจทก์มีสิทธินำยึดเพื่อบังคับชำระหนี้ โจทก์จะนำยึดสินบริคณห์ก่อนขอแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗, ๓๘, ๑๔๗๙, ๑๔๘๓, ๑๔๘๗)
พิพากษายืน

Share