คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่2ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่1ก่อขึ้นต้องได้ความว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2เมื่อพยานโจทก์เบิกความเพียงว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่2มาชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่1จะเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2หรือไม่พยานมิได้เบิกความถึงประกอบกับจำเลยที่2ก็นำสืบปฎิเสธว่าจำเลยที่1ไม่ได้เป็นลูกจ้างของตนด้วยโจทก์จึงนำสืบได้ไม่สมฟ้องการที่ศาลสันนิษฐานหรือถือว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างและกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่2จึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน84-6715 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 หรือใช้ให้จำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนซึ่งปฎิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของผู้มีชื่อในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ค่าเสียหายไม่ถึงตามที่ฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน430,887.90 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 380,887.90 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดต่อโจทก์โดยขับรถยนต์บรรทุกตามฟ้องของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่และค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด
ในปัญหาข้อแรกจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2แต่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นจะต้องได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างและไม่ได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ดังนี้ โจทก์จึงมีภาระต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หาไม่แล้วจำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น แต่จากการนำสืบของโจทก์คงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และนายเพียว พุทธรัตน์สามีโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 มาชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหายเท่านั้น ส่วนข้อที่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์และนายเพียวหาได้เบิกความถึงความข้อนี้ไม่ พยานอื่นที่จะฟังสนับสนุนความข้อนี้ก็ไม่มี ดังนี้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบของโจทก์จึงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 มาชนรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหายเท่านั้นเห็นว่า ลำพังข้อเท็จจริงที่ฟังได้ดังกล่าว แล้วจะฟังเลยต่อไปอีกว่าจำเลยที่ 1 ต้องเป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยนั้นเป็นการฟังที่หมิ่นเหม่ต่อความผิดพลาดและเป็นผลร้ายต่อจำเลยที่ 2 อย่างยิ่งเพราะกรณีอาจฟังเป็นอย่างอื่นได้อีกหลายนัย ประกอบกับจำเลยที่ 2 ก็นำสืบปฎิเสธว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างของตนด้วย ดังนี้ โจทก์นำสืบได้ไม่สมฟ้องพยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและทำละเมิดไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 แล้วศาลชั้นต้นสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนศาลอุทธรณ์ถือว่า จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างและกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเมื่อคดีฟังได้ดังนี้ปัญหาข้อที่ว่าโจทก์เสียหายเพียงใดจึงไม่จำต้องวินิจฉัย คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share