คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้ออ้างว่าฟ้องเคลือบคลุมตามอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคนละเหตุกับที่อ้างต่อสู้มาในคำให้การ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225
ตามระเบียบระบุให้ปลัดสุขาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกับกรรมการอื่นในการเก็บและรักษาเงิน หากมีการทุจริตเกี่ยวกับการรักษาเงินโดยการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่อจากการปฏิบัติหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้คืนจำเลยที่ 3 เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งจากโจทก์ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์ ในทางปฏิบัติของโจทก์เอง จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับการเงินของโจทก์โดยตรง ดังนั้นการปล่อยปละละเลยหรือประมาทเลินเล่ออันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ กรณีไม่ต้องตามระเบียบที่จะให้จำเลยที่ 3 ชดใช้เงินแก่โจทก์
ในการถอนเงินฝากมีระเบียบให้เป็นหน้าที่ของประธานสุขาภิบาล ปลัดสุขาภิบาล และหัวหน้าหน่วยการคลังลงชื่อถอนร่วมกันการไปรับหรือส่งเงินที่ธนาคารหรือที่แห่งใด ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลไปรับหรือส่งเงินลำพังผู้เดียว ต้องมีกรรมการไปรับหรือส่งเงินร่วมกันรับผิดชอบเป็นคณะกรณีจำนวนเงินเกิน 30,000 บาท จะต้องมีกรรมการควบคุมร่วมกันอย่างน้อย3 คน ระเบียบดังกล่าวมีจุดประสงค์ เพื่อป้องกันการผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเงินที่อาจขาดจำนวนหรือสูญหาย และเพื่อไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องทุจริต การที่จำเลยที่ 1เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลโจทก์ปล่อยให้ ร.สมุห์บัญชีของโจทก์ถอนเงินตามลำพังและเบียดบังเอาเงินไป จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1ต้องรับผิดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยเฉพาะจำเลยที่ 4 ยังเป็นหัวหน้าหน่วยการคลังของโจทก์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย มีเงินผลประโยชน์ของโจทก์ประเภทต่าง ๆ ไม่นำส่งเป็นรายได้ของโจทก์ เงินของโจทก์ที่เบิกมาใช้จ่ายในรายการต่าง ๆ ไม่มีหลักฐานการรับจ่าย และเงินที่ขาดหายไปเพราะลงบัญชีผิดพลาดจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการเก็บรักษาเงินของโจทก์โดยหน้าที่นอกจากเป็นกรรมการเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยแล้ว ยังต้องร่วมกันตรวจสอบตัวเงินและหลักฐานแทนตัวเงินและรายงานคงเหลือประจำวันตามระเบียบ แต่ไม่ปรากฎว่าในช่วงเวลาที่มีการทุจริตเบียดบังเงินของโจทก์ไปได้มีการตรวจสอบรายงานคงเหลือประจำวันรวมทั้งบัญชีต่าง ๆ จึงเป็นช่องทางให้ ร.ทำการทุจริตขึ้นได้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ ร.และมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบเงินของโจทก์เป็นรายวันจะอ้างว่า ร.ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไม่ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ปล่อยปละละเลยและประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายต้องรับผิด
คณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งรายงานผลการสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างที่ต้องรับผิดทางแพ่งซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ด้วย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบและผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้เรียกร้องแก่ผู้ต้องรับผิดทางแพ่งใช้เงินแก่โจทก์ ต้องถือว่าโจทก์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดผู้มีอำนาจสั่งการรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวน ไม่ใช่นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้ว่า ร.เป็นผู้ทำละเมิดเพราะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งที่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ต่างรายไปจาก ร.โจทก์ฟ้องคดียังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ

Share