คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันกระทำผิดฐานตั้งโรงงานประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยที่จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นรายบุคคล และจำเลยที่ 1ได้เสียค่าปรับไปแล้วก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และกระทำในนามของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเพราะจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลย่อมกระทำการเองไม่ได้ ความประสงค์หรือวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทน เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานใดได้ชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดฐานนั้นด้วย ดังนั้นศาลลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นรายตัวได้และแม้จำเลยที่ 1 เสียค่าปรับแล้วศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันตั้งโรงงานทำถังโลหะบรรจุน้ำ อันเป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะการทำภาชนะบรรจุ โดยมีเครื่องจักรคือเครื่องเชื่อมแก๊ส 3 เครื่องจำนวน 6 แรงม้า ตู้เชื่อมไฟฟ้าขนาด 300 แอมแปร์ 10 ตู้ จำนวน170 แรงม้า เครื่องเจียรโลหะ 5 เครื่อง จำนวน 1.6 แรงม้าปั๊มลมพ่นสี 1 เครื่อง จำนวน 7.5 แรงม้า ไฟเบอร์ติดโลหะ 1 เครื่องจำนวน 5 แรงม้า เครื่องม้วนโลหะ 1 เครื่อง จำนวน 3 แรงม้ารวมกำลังของเครื่องจักรทั้งหมดจำนวน 193.10 แรงม้า โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือจากผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้ออกใบอนุญาต และจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว โดยใช้เครื่องจักรที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีไว้ดังกล่าว ทำการผลิตถังโลหะบรรจุน้ำขึ้นที่โรงงานอาคารดังกล่าวเพื่อประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้ และหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ลงโทษตามข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 50,000 บาท และลงโทษตามข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 เดือน ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 50,000 บาท รวมให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 เดือนและปรับจำเลยทั้งสามคนละ 100,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 เดือน และปรับคนละ 50,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 เห็นสมควรรอไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนเครื่องจักรที่ติดตั้งไว้และหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า โทษตามข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 20,000 บาท และโทษปรับตามข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับจำเลยทั้งสามคนละ20,000 บาท รวมโทษปรับจำเลยทั้งสามคนละ 40,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการของจำเลยและกระทำการในนามของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าปรับไปแล้ว ศาลลงโทษจำเลยที่ 2และที่ 3 อีกจะเป็นการลงโทษซ้ำซ้อนหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันกระทำผิดฐานตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยที่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ กรณีถือว่าจำเลยทั้งสามรับสารภาพว่าร่วมกันตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องของโจทก์ เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเป็นรายบุคคล และจำเลยที่ 1 ได้เสียค่าปรับไปแล้วก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และกระทำในนามของจำเลยที่ 1 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเพราะจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลย่อมกระทำการเองไม่ได้ ความประสงค์หรือวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงออกโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานใดได้ชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดฐานนั้นด้วย ดังนั้น ศาลลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นรายตัวได้และแม้จำเลยที่ 1 เสียค่าปรับแล้ว ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share