แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยเข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมและแสดงอาการขับไล่มารดาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบริวารของโจทก์ร่วมให้ออกจากบ้าน ถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์มีนางกิมชุ้น วิลัยเลิศประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกาพยานอยู่ที่บ้านของโจทก์ร่วม จำเลยมาที่บ้านดังกล่าวบอกให้พยานขนของออกไป ถ้าไม่ไปจะเอาตำรวจมาลากคอ เมื่อพยานพูดว่าไม่ไปจำเลยก็คว้าจานกระเบื้องของพยานที่วางไว้หน้าบ้านมาเตะจนแตกจากนั้นจำเลยวิ่งไปที่บ้านจำเลยและกลับมาอีกครั้งโดยถือโซ่มาด้วยจำเลยไขบานเกล็ดหน้าต่างขึ้นแล้วเอาโซ่คล้องขอบหน้าต่างเข้ากับประตูบ้าน พร้อมทั้งเอากุญแจ 1 ดอก ล็อกโซ่ดังกล่าว พยานจึงขนข้าวของที่วางกองอยู่หน้าบ้านไปพักที่บ้านลูกชายซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุ ต่อมาตอนเย็นโจทก์ร่วมมาหาพยานและได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมเช่าที่ดินของนางพิน ฤกษ์วัฒนาสุขภรรยาจำเลยปลูกบ้าน โดยเช่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ชำระค่าเช่าเรื่อยมา วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 8 นาฬิกาโจทก์ร่วมย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านพักคนงานโดยขนข้าวของไปด้วยต่อมาเวลาใกล้ค่ำนายไพรวัลย์น้องชายไปบอกโจทก์ร่วมว่าให้รีบกลับบ้านเพราะนางกิมซุ้นซึ่งเป็นมารดาเข้าบ้านไม่ได้ เนื่องจากจำเลยเอาโซ่ไปคล้องประตูหน้าต่างและไล่นางกิมชุ้นออกจากบ้านโจทก์ร่วมรีบกลับไปบ้าน แต่ไม่พบผู้ใดอยู่ในบ้าน จึงไปสอบถามจำเลยว่าเหตุใดจึงมาคล้องโซ่ประตูหน้าต่างบ้าน จำเลยบอกว่าต้องยึดไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นโจทก์ร่วม จำเลยจะให้อยู่ หากเป็นคนอื่นจำเลยจะไม่ให้อยู่ โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ก่อนไปแจ้งความโจทก์ร่วมได้สอบถามเรื่องราวจากนางกิมชุ้นแล้ว ในคืนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตามจำเลยไปสถานีตำรวจเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไกล่เกลี่ยให้โจทก์ร่วมยอมรับค่าเสียหาย จำเลยตกลงจะใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 13,000 บาท โดยจะนำเงินมาชำระประมาณ 6-7 วันหลังจากนั้น แต่จำเลยไม่นำเงินมาชำระแก่โจทก์ร่วม นอกจากนี้ยังปรากฏในสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2528 เอกสารหมาย จ.5 ระบุว่าโจทก์ร่วมได้ไปแจ้งว่า จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในบ้านและไล่คนภายในบ้านออกทั้งหมด จากนั้นจำเลยเอาโซ่มาคล้องประตูรั้วโดยใช้กุญแจล๊อกโซ่ไว้ไม่ยอมให้คนเข้าบ้านโจทก์ร่วม ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์เชี่ยวพานิช ได้ติดตามจำเลยมาตกลงค่าเสียหาย จำเลยยินยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 13,000 บาท โดยจะนำเงินมาชำระในวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 ถ้าจำเลยไม่นำมาชำระภายในกำหนดโจทก์ร่วมจะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนกว่าจะถึงที่สุด โดยมีโจทก์ร่วมและจำเลยลงชื่อไว้ด้วย ซึ่งร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์เชี่ยวพานิช พนักงานสอบสวนคดีนี้มาเป็นพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยกับโจทก์ร่วมตกลงกันได้โดยจำเลยรับว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 13,000 บาท ตามที่ปรากฏในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 โดยจำเลยและโจทก์ร่วมลงชื่อต่อหน้าพยานศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวสอดคล้องต้องกัน นางกิมชุ้นและร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยแต่อย่างใด จึงไม่มีข้อสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็ได้ไปแจ้งความทันทีที่ทราบเหตุ แม้โจทก์ร่วมจะมีเรื่องทะเลาะกับจำเลยอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินการกู้ยืมเงิน แต่คำของโจทก์ร่วมก็ไม่มีลักษณะปรักปรำจำเลยแต่ประการใด หากจำเลยไม่ได้เข้าไปขับไล่นางกิมชุ้นในบ้านของโจทก์ร่วมดังที่จำเลยนำสืบแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเลยจะต้องยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมเป็นเงินจำนวน13,000 บาท นอกจากนี้เมื่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์แจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าบุกรุกบ้านโจทก์ร่วม จำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธ เพียงแต่แจ้งต่อร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ว่าจะมาให้การในชั้นศาลเท่านั้นและที่จำเลยนำสืบว่าเหตุที่จำเลยลงชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 ก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวเพราะเป็นเวลา 1 นาฬิกาแล้ว เป็นทำนองว่าได้ลงชื่อไปโดยไม่สมัครใจนั้นก็มีแต่ตัวจำเลยมาเบิกความ ทั้งยังได้ความจากคำของจำเลยเองว่าในคืนนั้นบุตรชายของจำเลยคือจ่าสิบตำรวจสุพจน์ ฤกษ์วัฒนาสุขไปที่สถานีตำรวจด้วย และได้บอกให้จำเลยลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าจำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.5 โดยสมัครใจ พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่งคงรับฟังได้ว่าจำเลยได้เข้าไปในบ้านโจทก์ร่วมและแสดงอาการขับไล่นางกิมชุ้นมารดาซึ่งเป็นบริวารของโจทก์ร่วมให้ออกจากบ้านดังกล่าว การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 แล้วดังนั้นปัญหาที่ว่าจำเลยได้เอาโซ่ไปคล้องประตูหน้าต่างบ้านของโจทก์ร่วมไว้หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น”