แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดเจนถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่โจทก์นำสืบเพียงว่าสายลับโทรศัพท์มาแจ้งร้อยตำรวจเอก ส. ว่าจะมีผู้นำยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ลูกค้า ร้อยตำรวจเอก ส. กับพวกจึงคอยดักจับกุม ต่อมาจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อโจทก์มิได้นำสายลับมาเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายให้กับผู้ใด ที่ไหน อย่างไร พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอรับฟังว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่าย แม้โจทก์จะนำสืบว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ แต่คำรับสารภาพของจำเลยเป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบประกอบ แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะมีจำนวนถึง 404 เม็ด แต่เมื่อคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์แล้วไม่ถึง 20 กรัม จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่าย
การที่จำเลยใช้กระดาษหนังสือนิตยสารห่อหุ้มเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ววางไว้ที่ตะแกรงด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 103 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 12 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และรถจักรยานยนต์ของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 9 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 6 ปี และไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 404 เม็ด น้ำหนักรวม 36.25 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 9.699 กรัม และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิหมายเลขทะเบียน ประจวบคีรีขันธ์ ต-9207 เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ วีระกุล และสิบตำรวจโทอำนาจ จิตต์เพ็ชร ผู้ร่วมจับกุมจำเลยเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกา ขณะพยานกับพวกกำลังออกตรวจพื้นที่ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีผู้หญิงอายุประมาณ 30 ปี ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ สีม่วง หมายเลขทะเบียน ประจวบคีรีขันธ์ ต-9207 นำยาเสพติดให้โทษมาส่งลูกค้าบริเวณถนนสาธารณะซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลทับสะแก อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พยานกับพวกจึงวางแผนจับกุมโดยแบ่งกำลังเฝ้าดักรอและสังเกตผู้ที่ขับรถผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งเวลา 18.30 นาฬิกา จำเลยขับรถจักรยานยนต์ซึ่งมีลักษณะตรงกับที่สายลับแจ้งผ่านมาจึงเรียกให้หยุดและทำการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 404 เม็ด เป็นลักษณะสีส้มจำนวน 400 เม็ด สีเขียว 4 เม็ด แยกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก 2 ถุง และห่อหุ้มด้วยกระดาษหนังสือนิตยสารอีกชั้นหนึ่งวางอยู่ในตะแกรงด้านหน้าของรถจักรยานยนต์จึงจับกุมจำเลยแจ้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ ทั้งคำเบิกความก็สอดคล้องต้องกัน เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความเป็นจริงที่ได้รู้เห็น นอกจากนี้โจทก์มีร้อยตำรวจเอกวุฒิชัย หอมกรุ่น พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ในชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาจำเลยว่ามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งศาลเห็นว่า บันทึกคำให้การดังกล่าวจำเลยให้การทันทีระยะเวลาใกล้ชิดกับที่จำเลยถูกจับกุมเชื่อว่าจำเลยยังไม่มีโอกาสบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดแต่อย่างใด ทั้งยังสอดคล้องกับคำของพยานโจทก์ ทำให้คำของพยานโจทก์มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงลายมือชื่อในคำให้การเพราะพนักงานสอบสวนบอกให้ลงชื่อรับสารภาพไปก่อนแล้วจึงขอปล่อยตัวชั่วคราวในภายหลังนั้น ก็มีเพียงตัวจำเลยมาเบิกความลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ที่จำเลยนำสืบว่าขณะเกิดเหตุจำเลยไปที่บ้านของนางเฉลียวเพื่อสอบถามเรื่อห่อหมกย่างจนถูกจับกุมที่บ้านของนางเฉลียวนั้น ก็มีเพียงตัวจำเลยและบุตรชายมาเบิกความลอยๆ เท่านั้น จำเลยหานำนางเฉลียวหรือเพื่อนบ้านนางเฉลียวมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนไม่ พยานหลักฐานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองจริง ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุเป็นพิรุธน่าสงสัยจะจับกุมจำเลยที่ใดแน่นั้น เห็นว่า แม้พยานโจทก์จะมิได้เบิกความยืนยันว่าจับกุมจำเลยได้ที่บริเวณหมู่บ้านตำรวจนั้นก็ตาม แต่พยานโจทก์ก็เบิกความว่าสายลับแจ้งว่าจะมีผู้นำยาเสพติดให้โทษมาส่งให้แก่ลูกค้าที่บนถนนสาธารณะซึ่งอยู่ในหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลทับสะแก ก็เป็นการชัดเจนแล้วแม้จะมิได้ระบุว่าเป็นหมู่บ้านตำรวจก็ตาม หาเป็นพิรุธน่าสงสัยไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความถึงเรื่องการวางแผนจับกุมขัดกันไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์และสิบตำรวจโทอำนาจ ต่างเบิกความยืนยันว่าร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ได้แบ่งกลุ่มกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเป็น 3 ชุด โดยวางกำลังที่ปากซอยทางด้านทิศเหนือ 1 ชุด ปากซอยทางด้านทิศใต้ 1 ชุด และที่กลางซอยอีก 1 ชุด แม้สิบตำรวจโทอำนาจจะเบิกความเพิ่มเติมอีกระหว่างกึ่งกลางถนนกับทางด้านทิศเหนือและทิศใต้มีเจ้าพนักงานตำรวจแอบซุ่มดูอีกชุดละ 1 คน นั้น ก็เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมจากที่ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์เบิกความถึงเท่านั้น หาขัดกันเป็นพิรุธจนถึงกับไม่อาจรับฟังเป็นความจริงดังที่พยานเบิกความไม่ และที่จำเลยฎีกาว่าพยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับการพบยาเสพติดของกลางขัดกันเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือนั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์และสิบตำรวจโทอำนาจ ขณะจับกุมจำเลยอยู่ด้วยกัน ดังนั้น เมื่อตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งอยู่ในถุงพลาสติกและห่อด้วยกระดาษหนังสือนิตยสารอีกชั้นหนึ่งวางอยู่ในตะแกรงหน้ารถจักรยานยนต์โดยเปิดเผยเช่นนี้ พยานทั้งสองย่อมรู้เห็น ผู้ใดจะอ้างว่าเป็นผู้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจึงหามีความสำคัญไม่ ที่ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์และสิบตำรวจโทอำนาจต่างเบิกความว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้นอาจจะสับสนไปก็ได้หาเป็นพิรุธไม่ และที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้กับลูกค้าเจ้าพนักงานตำรวจน่าจะรอให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้าเสียก่อนจะได้จับกุมจำเลยพร้อมกับผู้อื่นด้วยนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจอาจเห็นว่าสมควรตรวจค้นตัวจำเลยก่อนก็ได้ เพราะหากให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนไปแล้วขับรถติดตามจำเลยไป จำเลยอาจไหวตัวรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามมาก็จะหลบหนีทำให้ไม่สามารถจับตัวจำเลยได้ และการที่จำเลยให้การรับสารภาพแต่พนักงานสอบสวนมิได้ให้จำเลยไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพของจำเลยนั้น ก็หาขัดต่อกฎหมายไม่ เพราะเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่สอบสวนมามีน้ำหนักมั่นคงเพียงไร สมควรจะนำจำเลยไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดเจนถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่โจทก์นำสืบเพียงว่าสายลับโทรศัพท์มาแจ้งร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์ว่าจะมีผู้นำยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ลูกค้า ร้อยตำรวจเอกสมศักดิ์กับพวกจึงคอยดักจับกุม ต่อมาจับกุมจำเลยได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 404 เม็ด แยกบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก 2 ถุง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 เท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสายลับมาเป็นพยานเบิกความว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายให้กับผู้ใด ที่ไหน อย่างไร พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอรับฟังว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่าย แม้โจทก์จะนำสืบว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ก็ตาม แต่คำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบประกอบให้ศาลเห็นว่าจำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่าย พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางจะมีจำนวนถึง 404 เม็ด ก็ตาม แต่เมื่อคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์แล้วไม่ถึง 20 กรัม จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า รถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ประจวบคีรีขันธ์ ต-9207 ของกลางเป็นยานพาหนะที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยใช้กระดาษหนังสือนิตยสารห่อหุ้มเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ที่ตะแกรงด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน