คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2307/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ได้รับเงินค่าไถ่จากพวกของผู้เสียหายแล้ว ได้จัดให้ผู้เสียหายผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 316 บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยวที่1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 ตามกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 313 วรรคแรกนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา ๓๐๙, ๓๑๐ ๓๑๓,๓๑๗, ๓๓๗, ๘๓ ริบรถยนต์ จดหมาย คืนเงินและสมุดของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ ๔ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ที่ ๖ และที่ ๗ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ และที่ ๗ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๑๓,๓๑๗, ๓๓๗, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑๑, ๑๒ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ นั้น ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำผิด บัญญัติอัตราโทษสูงขึ้นจึงให้ใช้อัตราโทษในกฎหมายขณะกระทำความผิดที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดการที่จำเลยร่วมกันเอาตัวเด็กอายุเพียง ๙ ปี ไปจากบิดามารดาในที่ชุมนุมชนเวลากลางวัน แล้วขู่เข็ญเรียกค่าไถ่จากบิดามารดาเด็กเช่นนี้ เป็นพฤติการณ์ที่อุกอาจ ก่อให้เกิดความหวาดเกรงแก่ประชาชนโดยทั่วไป จึงเห็นสมควรลงโทษสถานหนัก ความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีไปเพื่อได้มาซึ่งค่าไถ่ ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๓๑๓ ให้จำคุกตลอดชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานกรรโชก ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๓๓๗ ให้จำคุก๔ ปีแต่ปรากฏว่าระหว่างพิจารณาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ ออกใช้บังคับเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน อันเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้นเฉพาะจำเลยที่ ๗ จึงให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๖ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๓, ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๖ มีกำหนดคนละ ๔๐ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๔ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาของศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๓, ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๔ มีกำหนด ๒๗ ปีคืนเงิน ๕,๐๐๐ บาท และสมุดของกลางแก่เจ้าของ รถยนต์และจดหมายของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำผิดจึงให้ริบ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๕
จำเลยที่ ๒ และที่ ๗ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๗ ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๗ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์เชื่อได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๓ ปีไปเพื่อได้มาซึ่งค่าไถ่ด้วย ฎีกาจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น…..พยานโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๗ ยังมีเหตุน่าระแวงสงสัยไม่พอฟังว่าจำเลยที่ ๗ ได้ร่วมกระทำความผิดคดีนี้ด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔และที่ ๖ ได้รับเงินค่าไถ่จากพวกของผู้เสียหายแล้ว ได้จัดให้ผู้เสียหายผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้เสียหายไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๓๑๖ บัญญัติให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ มาตามกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ วรรคแรกนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แม้จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองเพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๖ ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีและเห็นสมควรระบุวรรคของบทความผิดและบทลงโทษที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ระบุไว้เสียให้ชัดแจ้งด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๖ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคแรก ๓๑๐ วรรคแรก ๓๑๓ วรรคแรก ๓๑๗ วรรคแรก ๓๓๗ วรรคสอง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะกระทำผิด ความผิดตามมาตรา ๓๐๙ วรรคแรก ๓๑๐ วรรคแรก ๓๑๓ วรรคแรก และ ๓๑๗ วรรคแรกเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา ๓๑๓ วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา ๓๑๖ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุกคนละ ๑๔ ปี และลงโทษตามมาตรา ๓๓๗ วรรคสอง จำคุกคนละ ๔ ปี รวมโทษจำคุกคนละ ๑๘ ปี ลดโทษให้ตามที่ศาลล่างทั้งสองลดมาสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๖ คนละหนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ ๑๓ ปี ๖ เดือน สำหรับจำเลยที่ ๔ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๙ ปี นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share