คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับชำระเงิน 5,575,551.53 บาทจากโจทก์ โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลย 5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ 6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมากจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ จึงเป็นกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้อยู่แก่จำเลยจำนวนเท่าใด แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าถูกต้องณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งหากเป็นจำนวนที่ถูกต้องโจทก์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 331เมื่อโจทก์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยไม่ต้องนำคดีมาฟ้องศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
การตรวจคำฟ้องศาลชั้นต้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18” คำว่าให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง ศาลจึงมีอำนาจยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิอันเป็นกรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วนำข้อเท็จจริงในคำฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์และพิพากษายกฟ้อง เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) ซึ่งมีผลเป็นการพิจารณาคดีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ ตามมาตรา 151

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยโดยสั่งซื้อสินค้าประเภทปูนซีเมนต์จากจำเลยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,125,239.53 บาท ในการสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยนั้นโจทก์มีวงเงินค้ำประกันในการซื้อสินค้าจำนวน6,500,000 บาท จากธนาคารกสิกรไทย จำกัด เมื่อโจทก์ได้รับสินค้าจากจำเลยแล้ว โจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าสินค้าแก่จำเลยภายใน90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับสินค้า หากผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละงวดจำเลยมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากธนาคารกสิกรไทย จำกัดผู้ค้ำประกัน ในการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับหรือดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ ในจำนวนหนี้ดังกล่าวข้างต้นโจทก์ได้ชำระแก่จำเลยไปบางส่วนเป็นเงิน 549,688 บาท จึงยังคงมีหนี้สินติดค้างอยู่แก่จำเลยเป็นจำนวน 5,575,551.53 บาท เมื่อวันที่ 29กรกฎาคม 2542 จำเลยได้มีหนังสือให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยเป็นเงิน5,798,990.03 บาท ค่าปรับจำนวน 766,383.52 บาท รวมเป็นเงิน6,565,377.55 บาท และค่าปรับรายวันอีกวันละ 3,382.74 บาทจากจำนวนเงินที่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระดังกล่าวกับจำนวนหนี้ที่โจทก์ติดค้างอยู่แก่จำเลยจึงแตกต่างกันอยู่จำนวน 730,902.62 บาทการกระทำของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิ โจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์ยอดหนี้ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยรับชำระเงินจำนวน 5,575,551.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวไม่เกินกว่าจำนวน 258,919.40 บาทจำเลยไม่มีสิทธิคิดเบี้ยปรับหรือดอกเบี้ยนับจากวันที่ 4 สิงหาคม2542 เป็นต้นไป และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ด้วย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ธนาคารยังมิได้ชำระเงินแก่จำเลย โจทก์จึงยังไม่รับความเสียหาย ถือว่ายังไม่มีการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้หรือไม่ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีข้อเท็จจริงโดยสรุปฟังได้ว่า โจทก์กล่าวอ้างว่ายังเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าอยู่แก่จำเลยจำนวน5,575,551.53 บาท แต่จำเลยเรียกให้โจทก์ชำระหนี้จำนวน6,565,377.55 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่แตกต่างกันมากเป็นกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งกันอยู่ว่าโจทก์ยังติดค้างหนี้อยู่แก่จำเลยจำนวนเท่าใดก็ตามแต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวเป็นเพียงทำให้การชำระหนี้ของโจทก์ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงสิทธิได้แน่นอนว่าจะชำระหนี้เป็นจำนวนใด อันทำให้โจทก์สามารถใช้สิทธิวางทรัพย์ด้วยการชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์เห็นว่าถูกต้อง ณ สำนักงานวางทรัพย์ได้ ซึ่งการชำระหนี้ด้วยการวางทรัพย์ดังกล่าวหากเป็นการชำระหนี้จำนวนที่ถูกต้องแท้จริงก็ย่อมทำให้โจทก์หลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 331 ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ในยอดเงินที่สูงกว่าจำนวนที่โจทก์ควรจะรับดังกล่าวแม้จะเป็นความจริง แต่โจทก์ก็มีทางเลือกที่จะปฏิบัติได้โดยหาต้องนำคดีมาฟ้องศาลไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ส่วนข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า เมื่อจำเลยทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้จะทำให้ธนาคารผู้ค้ำประกันหนี้ของโจทก์จะต้องชำระหนี้ไปแทน ก็เป็นข้ออ้างลอย ๆโดยไม่ปรากฏว่าธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ไปแล้วหรือไม่ ข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นข้อที่โจทก์คาดหมายเอา ยังถือไม่ได้ว่าสิทธิของโจทก์ได้ถูกโต้แย้งแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์แต่กลับพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและพิพากษาคดีของโจทก์ เป็นคำพิพากษาไม่ชอบ เพราะไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพียงรับคำฟ้อง ไม่รับคำฟ้องหรือคืนคำฟ้องเท่านั้น เห็นว่า ในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคท้าย ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ศาลตรวจคำฟ้องนั้นแล้วสั่งให้รับไว้ หรือให้ยกเสียหรือให้คืนไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18″ คำว่า ให้ยกเสียตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการยกฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงถือว่าศาลย่อมมีอำนาจจะยกฟ้องโจทก์ในชั้นตรวจคำฟ้องได้โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์ไว้เสียก่อนไม่ ดังนั้น หากศาลชั้นต้นได้ตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์ไม่อาจชนะคดีได้ตามคำฟ้องก็ชอบจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียเท่านั้น คดีนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงเป็นกรณีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทันทีโดยมิได้มีคำสั่งรับคำฟ้องโจทก์ไว้ก่อนจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า เมื่อศาลชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของโจทก์ จะต้องคืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้วนำข้อเท็จจริงในคำฟ้องมาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำฟ้องโจทก์ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 131(2) ซึ่งมีผลเป็นการพิจารณาคดีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 จึงไม่มีเหตุที่จะคืนค่าธรรมเนียมศาลแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 151 ที่ศาลชั้นต้นให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ จึงชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share