คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การใช้นาที่ให้เช่าเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 37 จะต้องเป็นการใช้ที่นานั้นเองทำประโยชน์ มิใช่นำไปขายซึ่งจะทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือไป ไม่อาจใช้นาที่ให้เช่านั้นได้อีกต่อไป การที่จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ให้โจทก์เช่านาจะจัดสรรนาพิพาทแบ่งขายก็คือขายนั่นเอง เป็นวิธีการขายอย่างหนึ่ง จึงมิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็นตามมาตรา 37(2) จำเลยร่วมจึงไม่อาจบอกเลิกการเช่านาพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นประธาน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 11 เป็นกรรมการและจำเลยที่ 12 เป็นกรรมการและเลขานุการ คชก.จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 โจทก์ทำสัญญาเช่านาพิพาทโฉนดเลขที่ 199 ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ จากนางสุภาพ อึ้งอัมพรวิไล ชำระค่าเช่าปีละ 1 ครั้ง จำนวน 12,600 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2535 นางสุภาพมีหนังสือบอกเลิกการเช่าอ้างว่าต้องการเอาที่ดินไปใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็นเป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้บอกเลิกการเช่าล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และความจริงนางสุภาพประสงค์จะนำที่นาพิพาทไปจัดสรรปลูกบ้านและแบ่งขายเป็นแปลงย่อย ต่อมา คชก.ตำบลลาดหลุมแก้ววินิจฉัยระยะเวลาการเช่านาพิพาทสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2536 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลาดหลุมแก้ว ต่อ คชก. จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2535 คชก. จังหวัดปทุมธานีมีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลาดหลุมแก้ว ขอให้พิพากษาหรือสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว และ คชก. จังหวัดปทุมธานี

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 12 ให้การว่า การเช่านาพิพาทไม่มีหนังสือสัญญาเช่า เอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 ไม่อาจถือเป็นสัญญาเช่าได้ ระยะเวลาการเช่านาพิพาทจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับและระยะเวลาการเช่าจะครบกำหนดระยะที่สองในปี 2536 นางสุภาพ อึ้งอัมพรวิไล ผู้ให้เช่าบอกเลิกการเช่าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และนางสุภาพประสงค์จะใช้นาพิพาทเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็น คชก. จังหวัดปทุมธานี มีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา นางสุภาพ อึ้งอัมพรวิไล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่า เดิมนาพิพาทเป็นของบิดาโจทก์ ต่อมาบิดาโจทก์ขายนาพิพาทให้แก่นางสุภาพ แล้วนางสุภาพให้โจทก์เช่านาพิพาทตั้งแต่ปี 2514 โดยไม่มีระยะเวลาการเช่า เมื่อพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับระยะเวลาการเช่านาพิพาทจึงมีกำหนดระยะละ 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งจะครบกำหนดระยะที่สองในปี 2536 แต่ผู้ร้องสอดต้องการใช้นาพิพาทเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตน จึงมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกการเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า 1 ปี เป็นการบอกเลิกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมา คชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว และ คชก. จังหวัดปทุมธานีวินิจฉัยว่าการเช่านาพิพาทสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2536 ซึ่งถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางสุภาพ อึ้งอัมพรวิไล เข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)

จำเลยที่ 6 ถึงที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว และ คชก. จังหวัดปทุมธานี ที่ให้การเช่านาพิพาทสิ้นสุดลง

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 12 ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการ คชก. จังหวัดปทุมธานี โจทก์เช่านาพิพาทโฉนดเลขที่ 199 ตำบลลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีเนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ จากจำเลยร่วมเพื่อทำนา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2535จำเลยร่วมมีหนังสือถึงโจทก์ขอบอกเลิกการเช่าตามเอกสารหมาย จ.3 และมีหนังสือแจ้ง คชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว ถึงเหตุผลในการบอกเลิกการเช่าตามเอกสารหมาย จ.5 คชก. ตำบลลาดหลุมแก้ววินิจฉัยให้การเช่านาพิพาทสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2536 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อ คชก. จังหวัดปทุมธานีและ คชก. จังหวัดปทุมธานีมีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลลาดหลุมแก้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7ที่ 8 และที่ 12 ว่า จำเลยร่วมบอกเลิกการเช่านาพิพาทได้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 12 ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังเป็นยุติในศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์มิได้นำสืบให้ศาลเห็นว่าการที่จำเลยร่วมบอกเลิกการเช่าเพื่อนำนาพิพาทไปจัดสรรขายนั้นมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวตามความจำเป็นของจำเลยร่วม จึงต้องถือว่าการบอกเลิกการเช่านาของจำเลยร่วมเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวตามความจำเป็นนั้นเห็นว่าข้อเท็จจริงมิได้รับฟังเป็นยุติเช่นนั้น เพราะยังโต้เถียงกันอยู่ โจทก์มิได้มีหน้าที่ต้องนำสืบดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 12 กล่าวอ้างผู้ที่มีหน้าที่นำสืบความจำเป็นดังกล่าวคือจำเลยร่วม ซึ่งเป็นผู้ให้เช่านาที่บอกเลิกการเช่านา และได้เข้ามาเป็นคู่ความคดีนี้แล้วด้วยการร้องสอดโดยจะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 37(2)ว่า ประสงค์จะใช้นาที่ให้เช่าเพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็นอย่างไร แต่ตามที่จำเลยร่วมนำสืบมาปรากฏว่าจำเลยร่วมเบิกความว่านายธวัชชัยบุตรของจำเลยร่วมต้องการนำนาพิพาทไปใช้ประโยชน์จึงได้มอบให้นายธวัชชัยดำเนินการบอกเลิกการเช่า แต่นายธวัชชัยอึ้งอัมพรวิไล บุตรของจำเลยร่วมซึ่งมาเป็นพยานให้จำเลยร่วมเบิกความว่า จำเลยร่วมต้องการนำนาพิพาทไปจัดสรร จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่า ส่วนนายสิทธิชัย อิ่มใจ ทนายจำเลยร่วมเบิกความว่าได้พบกับจำเลยร่วมและนายธวัชชัยซึ่งเป็นบุตรชายในการปรึกษาเรื่องการบอกเลิกการเช่านาพิพาท บุคคลทั้งสองแจ้งว่าต้องการบอกเลิกการเช่านาพิพาทเพื่อนำนาพิพาทไปจัดสรรขาย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ชัดเจนจากที่จำเลยร่วมนำสืบมาว่า ที่จำเลยร่วมบอกเลิกการเช่านาพิพาทก็เพื่อจะนำนาพิพาทไปจัดสรรขาย เป็นความประสงค์ของจำเลยร่วมเองร่วมกับนายธวัชชัย บุตรชาย เห็นว่า การใช้นาที่ให้เช่าเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 นี้ จะต้องเป็นการใช้ที่นานั้นเองทำประโยชน์ มิใช่นำเอานาไปขาย ซึ่งจะทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือไปเป็นผลทำให้ไม่อาจใช้นาที่ให้เช่านั้นได้อีกต่อไป การที่จำเลยร่วมจะจัดสรรนาพิพาทแบ่งขายก็คือขายนั่นเอง เป็นวิธีการขายอย่างหนึ่ง จึงเห็นได้ว่ามิใช่เป็นการใช้เพื่อประโยชน์แห่งครอบครัวของตนตามความจำเป็นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37(2) จำเลยร่วมจึงไม่อาจบอกเลิกการเช่านาพิพาทได้ การเช่านาพิพาทยังไม่สิ้นสุดลงโดยการบอกเลิกการเช่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลลาดหลุมแก้ว และ คชก. จังหวัดปทุมธานีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 12 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share