คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 165/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองโดยมีชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินและจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ธนาคาร แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้โจทก์ที่ 2 จึงโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้เพื่อไม่ให้ธนาคารบังคับจำนอง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่ธนาคารดังกล่าวอีก ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองแล้วโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เช่นนี้ เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสองที่จะต้องนำสืบถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 9324 ตำบลบ้านยาง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นของโจทก์ทั้งสอง ให้เพิกถอนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2536 ให้จำเลยทั้งห้าไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ขายที่ดินพิพาทด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงไปจดทะเบียนซื้อขายให้ตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตอันเป็นการโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน จำเลยที่ 1 เป็นบุตรเขย จำเลยที่ 2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ทั้งสอง เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยมีชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งสองได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรแล้วนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคาร ต่อมาโจทก์ทั้งสองไม่สามารถชำระหนี้ได้ โจทก์ที่ 2 จึงได้โอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้แทน เพื่อไม่ให้ธนาคารบังคับจำนอง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แก่ธนาคารอีก ภายหลังโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง ในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากธนาคารแล้วนำไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้หรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ ฉะนั้น ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสองที่จะต้องนำสืบถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share