คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดใช้อย่างไรก็ได้ตามลักษณะแห่งคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 ถึงมาตรา 167 ไม่ว่ามีคำขอหรือไม่นั้น ดังนั้นแม้โจทก์มิได้บรรยายขอไว้ท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยกำหนดให้จำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเพิ่มขึ้นได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินอาจมีการขึ้นลงไม่คงที่ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี คงที่ จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 3,051,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2531ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 259,377.50 บาท และนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธความรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นายแพทย์เรืองชัย วัชรพงศ์ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,513,000บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้10,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน3,051,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 13,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1เรื่องที่ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ชนะคดีบางส่วน เป็นการมิชอบที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในศาลชั้นต้นเต็มตามคำฟ้องโดยที่โจทก์มิได้บรรยายขอไว้ท้ายคำฟ้องอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดใช้อย่างไรก็ได้ตามลักษณะแห่งคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 ถึงมาตรา 167 ไม่ว่ามีคำขอหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้บรรยายขอไว้ท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินอาจมีการขึ้นลงไม่คงที่ การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 8.5 ต่อปี คงที่ จึงไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์

Share