แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่าจำเลยที่2และที่3ได้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่1ให้ซ่อมเครื่องปั๊มของจำเลยที่1ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ส่วนที่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาดจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดกันอันจะทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์จะบังคับจำเลยคนใดทั้งต่อมาโจทก์ได้ขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่1ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา226การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่1เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคหนึ่งการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งเช่นกัน โจทก์กับจำเลยที่1มีข้อตกลงว่าจะชำระเงินค่าซ่อมกันเมื่อมีการวางบิลแล้วสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมของโจทก์จึงเกิดขึ้นนับแต่วันวางบิลอายุความต้องเริ่มนับแต่วันวางบิลซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา169เดิม(มาตรา193/12ที่แก้ไขใหม่)หาใช่นับแต่วันที่ลงในใบส่งของอันเป็นวันรับมอบการที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา602ไม่เมื่อนับแต่วันวางบิลถึงวันฟ้องยังไม่เกิน2ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายเหลือ ติรณวัตถุภรณ์ ฟ้องคดีแทน เมื่อระหว่างวันที่25 พฤศจิกายน 2531 ถึงวันที่ 27 มีนาคม 2532 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ให้ซ่อมเครื่องปั๊มของจำเลยที่ 1 ซึ่งใช้การไม่ได้หลายรายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,365 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจะชำระเงินเมื่อโจทก์ทวงถาม โจทก์ซ่อมและส่งมอบเครื่องปั๊มให้แก่จำเลยทั้งสามในสภาพที่เรียบร้อยและได้ทวงถามโดยการวางบิลแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 45,365บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราที่ให้ไว้แก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่าเครื่องปั๊มนั้นเป็นเครื่องปั๊มอะไร ยี่ห้อใด จำนวนเท่าใด ทั้งโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ แต่คำขอท้ายฟ้องกลับขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อันเป็นการขัดกัน ฟ้องโจทก์อายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 45,365 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กันยายน2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ว่าจ้างโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 ให้ซ่อมเครื่องปั๊มของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการพิมพ์ผิดพลาด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดกัน อันจะทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์จะบังคับจำเลยคนใด ทั้งต่อมาโจทก์ได้ขอแก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นจำเลยทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคำสั่งไว้ จึงต้องห้ามอุทธรณ์คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อเป็นดังนี้ ก็ต้องถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำขอท้ายฟ้องเป็นคำสั่งที่ชอบแล้วคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงหาได้ขัดกันไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายเหลือ ติรณวัตถุภรณ์ ดำเนินคดีแทนนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่ 1 จะได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ แต่ปรากฏว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12)พ.ศ. 2534 มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบนางบุษรา ติรณวัตถุภรณ์ หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อส่งผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเหลือดำเนินคดีแทน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายเหลือดำเนินคดีแทน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเกี่ยวกับข้อที่ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องวางบิลค่าซ่อมก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 1 หรือไม่แม้จำเลยที่ 1 จะได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นอุทธรณ์ แต่เมื่อคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1มีข้อตกลงว่าจะชำระค่าซ่อมกันเมื่อมีการวางบิลแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อนี้ให้เป็นการไม่ชอบและถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาส่วนนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าจะชำระเงินค่าซ่อมกันเมื่อมีการวางบิลแล้ว ปรากฏว่ามีการวางบิลเมื่อวันที่ 18 มีนาคม2532 วันที่ 26 มีนาคม 2532 และวันที่ 10 เมษายน 2532 ดังนี้สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมของโจทก์จึงเกิดขึ้นนับแต่วันวางบิลอายุความต้องเริ่มนับแต่วันวางบิล ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169หาใช่นับแต่วันที่ลงในใบส่งของอันเป็นวันรับมอบการที่ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่เมื่อนับแต่วันวางบิลดังกล่าวถึงวันฟ้องวันที่ 8 มีนาคม 2534ยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน