คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7473-7530/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานจะต้องประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละอย่างน้อย 1 คนรวมกันแล้วอย่างน้อยสามคนจึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแต่ในคำพิพากษาศาลแรงงานมีเพียงลายมือชื่อของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบรวมกันเพียงสองคน ไม่ครบองค์คณะผู้พิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 17 จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ กรณีมีเหตุสมควรที่จะยกคำพิพากษาแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลแรงงานเพื่อให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสิบแปดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 58

โจทก์ทั้งห้าสิบแปดสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าสิบแปดตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งห้าสิบแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 18 ศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษาผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี” กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องประกอบด้วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละอย่างน้อย1 คน รวมกันแล้วอย่างน้อยสามคน จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี แต่ปรากฏว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางคดีนี้มีเพียงลายมือชื่อของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบรวมกันเพียงสองคนเท่านั้น ไม่ครบองค์คณะผู้พิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ กรณีมีเหตุสมควรที่จะยกคำพิพากษาแล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อให้พิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ให้ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

Share