คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3015/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. โจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากห้าง ฯ ไป ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้มาที่ห้าง จำเลยที่ 1 ได้พูดกับพนักงานของห้างถึงสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ลาออกว่า “โจทก์จะซื้อแหวนให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จะผ่อนคืนราคาแหวนหรือไม่ก็ได้ โจทก์เคยให้กระเป๋าสตางค์ซึ่งมีเงินจำนวนหนึ่งอยู่ในกระเป๋า โจทก์ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วให้เงิน 6,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 โจทก์เคยจับมือจำเลยที่ 1 โจทก์เคยขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1 ไปส่งที่บ้านของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นพนักงานของห้าง เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม และเพื่อมิให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่จำเลยที่ 1 ” และจำเลยที่ 2 ได้พูดว่า “โจทก์มีพฤติการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ปฏิบัติตนต่อจำเลยที่ 1ในลักษณะหมาหยอกไก่ ถ้าจำเลยที่ 1 เล่นด้วย เรื่องก็เงียบไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอม จำเลยที่ 2 ไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 จึงแนะนำให้จำเลยที่ 1 ออกจากงาน และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ทำงานล่วงเวลาเพราะไม่ต้องการให้คนอื่นเข้าใจว่าเรื่องได้เลยเถิดไปไกลแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังบริสุทธิ์อยู่ จะท้าพิสูจน์ที่ไหนอย่างไรก็ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คงไม่เลยเถิดไปถึงขั้นสามีภริยา และโจทก์เป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม ถ้าเรื่องทราบถึงคนอื่นจะทำให้เกิดความเสียหาย ดังนั้น น่าจะมาเจรจากันเพื่อไม่ให้เรื่องยืดเยื้อ ” ข้อความที่จำเลยที่ 1 พูดนั้น เป็นการพูดเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งแปลความหมายได้ว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้ จำเลยที่ 1 จึงลาออกจากงานเพราะกลัวตนเองจะเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่กล่าวหาว่า โจทก์ได้กระทำการอันเป็นการลวนลามจำเลยที่ 1 โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ข้อความที่แปลความหมายได้เพียงว่า โจทก์เป็นคนเจ้าชู้นี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “เจ้าชู้” หมายความถึงผู้ใฝ่ในการชู้สาว เมื่อปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ชาย ตามความรู้สึกของสังคมหรือคนทั่วไปที่ได้ยินข้อความที่จำเลยที่ 1 พูด ก็ไม่อาจมีความรู้สึกได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่เป็นเรื่องของผู้ชายซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะใฝ่ในทางชู้สาวได้ คำพูดของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนคำพูดของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการพูดภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 พูดแล้วนั้น ก็เป็นการยืนยันถึงความเป็นคนเจ้าชู้ของโจทก์ ซึ่งมิได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่จำเลยที่ 1 และไม่เคยกระทำการอันเป็นการก้าวล่วงลวนลามจำเลยที่ 1 ให้เกิดความเสียหาย แต่การกระทำของโจทก์เป็นการหยอกล้อจำเลยที่ 1 เหมือนหมาหยอกไก่ที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากงานและไม่ให้ทำงานล่วงเวลาก็ไม่ใช่เพราะกลัวโจทก์แต่อย่างใดไม่ แต่กลัวคนอื่น จะเข้าใจผิด อันเป็นการยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของโจทก์ว่า โจทก์ไม่เคยทำอะไรให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายมาก่อน คำพูดของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์

Share