แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ย่อมมีผลทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียนเป็นทางสาธารณประโยชน์อีกและจะโอนแก่กันโดยทางนิติกรรมมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ฉะนั้น แม้จำเลยจะซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลก็ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 68795 และ 68796 ตำบลทุ่งสองห้อง (ลาดโตนด) อำเภอบางเขน (ตลาดขวัญ) กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ติดซอยชินเขต 2/18 ซึ่งเป็นทางสาธารณะ จำเลยได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้นปากซอยดังกล่าว ทำให้โจทก์และบุคคลอื่นไม่สามารถใช้ซอยเป็นทางเข้าออกได้ตามปกติ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะและให้จำเลยรื้อแผงเหล็กออกไป จัดการให้ทางพิพาทใช้ได้ดังเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จัดการแทนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยนำแผงเหล็กมาปิดกั้นบนที่ดินของจำเลยมิให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีบ้านพักในซอยนำรถยนต์เข้ามาจอด ทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะให้จำเลยรื้อถอนแผงเหล็กที่ปิดกั้นทางพิพาทออกไป และจัดการให้ใช้ได้เหมือนเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาส่วนที่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อปี 2514 พลตรีเฉลิม คำรพวงศ์ ได้จัดสรรที่ดินขายในโครงการหมู่บ้านชินเขต แขวงทุ่งสองห้อง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ในนามสวัสดิการข้าราชการกรมการขนส่งทหารบก ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีห้ามหน่วยราชการจัดสรรที่ดิน พลตรีเฉลิม จึงโอนการจัดสรรที่ดินให้แก่บริษัทชินเขต จำกัด ซึ่งมีนางอรลา ธัญญะกิจ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและพันตำรวจเอกชัยช่วย งานทวี เป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2525 พันโทธีรฉัตร คำรพวงศ์ ผู้จัดการมรดกของพลตรีเฉลิม ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินแปลงที่กันไว้เป็นทางในหมู่บ้านชินเขตให้เป็นทางสาธารณะตามโฉนดที่ดินเลขที่ 107 เลขที่ดิน 38 เพื่อให้ประชาชนใช้สอยร่วมกัน ต่อมาพันตำรวจเอกชัยช่วยได้ยื่นคำขอลงวันที่ 26 สิงหาคม 2525 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกรุงเทพมหานครเพื่อให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 68791 เลขที่ดิน 2747 เนื้อที่ 2 งาน 29 ตารางวาให้เป็นทางสาธารณะในหมู่บ้านชินเขต ต่อมาเมื่อปี 2529 นางอรรจนาผู้จัดการมรดกของพันตำรวจเอกชัยช่วย ก็ได้ยกที่ดินบางส่วนในที่ดินโฉนดเลขที่ 18 ให้เป็นทางสาธารณะในหมู่บ้านชินเขตเช่นเดียวกันอีก และชาวบ้านทุกคนที่มีบ้านอยู่ในหมู่บ้านชินเขต ต่างก็ได้ใช้ถนนและซอยต่าง ๆ ในหมู่บ้านชินเขตเป็นทางเข้าออกโดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดโต้แย้งหรือขัดขวางตลอดมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 68795 และ 86796 ตั้งอยู่ติดซอยชินเขต 2/18 ซึ่งเป็นซอยย่อยแยกจากถนนสายหลักในหมู่บ้านชินเขต ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 50553 และ 50556 เป็นส่วนหนึ่งของซอยชินเขต 2/18 เป็นของจำเลยโดยจำเลยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาลเมื่อประมาณปี2535 ถึงปี 2536 ประชาชนในหมู่บ้านชินเขตได้ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตดอนเมืองว่า จำเลยได้ใช้เหล็กปิดกั้นซอยซึ่งเป็นทางสาธารณะในหมู่บ้านชินเขต สำนักงานเขตดอนเมืองดำเนินการสอบสวนแล้วเชื่อว่าที่ดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณะแล้ว จึงมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นออกไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่ เห็นว่า เดิมพลตรีเฉลิมได้จัดสรรที่ดินขายในโครงการหมู่บ้านชินเขตเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกรมการขนส่งทหารบกโดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ให้เป็นถนนเพื่อเป็นทางเข้าออกสำหรับที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกขาย การจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการดังกล่าวจึงไม่เหมือนกับการจัดสรรที่ดินเพื่อขายรายอื่น ๆ ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์แต่ถ่ายเดียว เมื่อพิจารณาคำขออุทิศให้ที่ดินเป็นทางสาธารณะฉบับลงวันที่ 26 สิงหาคม 2525 ของพันตำรวจเอกชัยช่วยกับต่อมานางอรรจนาผู้จัดการมรดกพันตำรวจเอกชัยช่วยแสดงเจตนายกที่ดินที่มีสภาพเป็นถนนในหมู่บ้านชินเขตให้เป็นทางสาธารณะในปี 2529 ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจำเลยจะซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดทั้งสิ้นประกอบกันแล้วล้วนเจือสมกับเจตนาเดิมของพลตรีเฉลิมที่จัดสรรที่ดินเพื่อเป็นสวัสดิการของข้าราชการกรมการขนส่งทหารบกอย่างแท้จริง ดังนั้นการที่พันโทธีรฉัตรผู้จัดการมรดกของพลตรีเฉลิมแสดงเจตนาอุทิศที่ดินแปลงที่กันไว้เป็นทางในหมู่บ้านชินเขตให้เป็นทางสาธารณจึงเป็นการย้ำเจตนาของพลตรีเฉลิมเจ้ามรดกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น หาได้ทำให้การแสดงเจตนาอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายของพลตรีเฉลิมซึ่งมีอยู่เดิมต้องเสียไปแต่อย่างใด อีกประการหนึ่งการที่บุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชินเขตได้ใช้ที่ดินที่เป็นถนนหรือเป็นซอยรวมทั้งที่ดินที่เป็นซอยพิพาทเข้าออกอย่างทางสาธารณะตลอดมาตั้งแต่เริ่มสร้างหมู่บ้านชินเขต จนถึงวันที่จำเลยได้ซื้อที่ดินส่วนเป็นทางพิพาทมาจากการขายทอดตลาดและเกิดเหตุคดีนี้ขึ้นในภายหลังเป็นเวลานานกว่า 10 ปี โดยมิได้มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดโต้แย้งหรือขัดขวางนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวก็ล้วนเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ทำให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า พลตรีเฉลิมเจ้าของที่ดินเดิมยอมให้ประชาชนทั่วไปใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรไปมาเป็นเวลาช้านานหลายสิบปี ย่อมถือได้ว่ามีเจตนาอุทิศให้ที่ดินพิพาทที่เป็นทางในซอย 2/18 เป็นทางสาธารณะโดยปริยายมาตั้งแต่ต้นแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของแผ่นดินเสียก่อนนั้น เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ย่อมมีผลทันทีโดยไม่จำต้องจดทะเบียนเป็นทางสาธารณประโยชน์อีก
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยได้ที่ดินพิพาทโดยการซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ที่ดินพิพาทจึงมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้วทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว ย่อมไม่สามารถโอนให้แก่กันได้โดยทางนิติกรรม แม้จำเลยจะได้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังคงสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดิม จำเลยจึงไม่มีสิทธินำแผ่นเหล็กมาปิดกั้นที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน”
พิพากษายืน