คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9753/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาแฟรนไชส์มีข้อตกลงที่ให้โจทก์นำเงินมาลงทุนประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทโดยใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลย โจทก์เป็นผู้ประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทและรับผิดชอบต่อลูกจ้างของตนในฐานะนายจ้าง โดยโจทก์จะต้องโอนเงินรายได้จากการขายสินค้าให้จำเลยและจำเลยจะจ่ายเงินปันผลกำไรประจำเดือนและเงินส่วนแบ่งกำไรสะสมให้โจทก์ สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 369
โจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งเงินรายได้จากการขายให้จำเลย โดยที่สัญญาแฟรนไชส์ที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาแก่จำเลยก่อน โจทก์จะมาขอให้จำเลยส่งร้านให้โจทก์เข้าครอบครองไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบร้าน โจทก์จะอ้างเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 9,090,304 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2539 โจทก์ทำสัญญาแฟรนไชส์กับจำเลย โดยจำเลยให้โจทก์เข้าประกอบการค้าร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการแฟมิลี่มาร์ทของจำเลย โจทก์ต้องดำเนินกิจการตามระเบียบวิธีการ จัดทำรายงานการเงิน บัญชีรับจ่ายและการส่งเงินที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าตามรูปแบบที่จำเลยกำหนด ในวันเดียวกันนายภิญญะทำบันทึกเข้าร่วมดำเนินกิจการร้านแฟมิลี่มาร์ทกับโจทก์ โดยรับผิดต่อจำเลยร่วมกับโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาแฟรนไชส์ และในวันที่ 8 สิงหาคม 2540 จำเลยบอกเลิกสัญญาแฟรนไชส์กับโจทก์ เข้าครอบครองร้านแฟมิลี่มาร์ทและฟ้องโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์โดยไม่มีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาให้ถูกต้องก่อน เป็นการเลิกสัญญามิชอบด้วยข้อตกลงในสัญญาแฟรนไชส์กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยและโจทก์ได้สมัครใจเลิกสัญญาแฟรนไชส์กันโดยปริยาย คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6556/2545 โจทก์จึงกลับมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า การที่สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังไม่เลิกกัน โจทก์จะอาศัยเหตุที่เกิดขึ้นใหม่บอกเลิกสัญญากับจำเลยได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาแฟรนไชส์มีข้อตกลงที่ให้โจทก์นำเงินมาลงทุนประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทโดยใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของจำเลย โจทก์เป็นผู้ประกอบการร้านแฟมิลี่มาร์ทและรับผิดชอบต่อลูกจ้างของตนในฐานะนายจ้าง โดยโจทก์จะต้องโอนเงินรายได้จากการขายสินค้าให้จำเลยและจำเลยจะจ่ายเงินปันผลกำไรประจำเดือนและเงินส่วนแบ่งกำไรสะสมให้โจทก์ สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 กำหนดว่า ในสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ก็ได้
ในข้อที่ว่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีการประพฤติผิดสัญญาหรือไม่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายละเลยไม่ส่งเงินรายได้ตามสัญญาแฟรนไชส์ ข้อ. 15.5 ให้จำเลย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนนี้ จึงเป็นยุติว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งเงินรายได้จากการขายให้จำเลย โดยที่สัญญาแฟรนไชส์ที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาแก่จำเลยก่อน โจทก์จะมาขอให้จำเลยส่งร้านให้โจทก์เข้าครอบครองไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบร้าน โจทก์จะอ้างเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยย่อมไม่ได้เช่นเดียวกัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แม้โจทก์จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาถึงจำเลยก็หามีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาตามกฎหมายไม่ แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้นชอบด้วยเหตุและผลแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share