คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1191/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1)
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ได้รับแจ้งเหตุและเดินทางไปดูป้ายโครงการก่อสร้างที่ระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิกโครงการ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างโดยใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อปลอมของโจทก์โดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ถือว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้างว่าโจทก์เป็นสถาปนิก การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 34,580,136.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 30,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,954,400 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,969,600 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นสถาปนิกได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ประเภทสามัญสถาปนิก จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารซึ่งระบุอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างอาคาร ที่ซอยวัดภคินีนาถ ถนนราชวิถี แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 116618, 3249 และ 414 เป็นที่ดินของวัดภคินีนาถ และจำเลยที่ 1 โดยมีชื่อโจทก์ จำเลยที่ 4 และนายชาญณรงค์ เป็นผู้ควบคุมงาน มีโจทก์ จำเลยที่ 4 นายสมศักดิ์ และนายชาญณรงค์เป็นผู้ออกแบบและคำนวณออกให้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยผู้อำนวยการเขตบางพลัด และแผ่นป้ายประกาศโครงการก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น 1 ชั้นลอย ที่บริเวณก่อสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของโครงการ ระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิก หนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างดัดแปลงต่อเติมระบุว่าโจทก์รับรองว่าเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง วางผัง ออกแบบทำรายการก่อสร้าง คำนวณโครงการ และลงลายมือชื่อในช่องสถาปนิก หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน ระบุว่าโจทก์ยินยอมเป็นผู้ควบคุมงานตามคำขอรับใบอนุญาตของจำเลยที่ 2 และลงลายมือชื่อในช่องผู้ควบคุมงาน ภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของโจทก์ ระบุเป็นลายมือชื่อของโจทก์รับรองสำเนาเอกสารดังกล่าว วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโททนงค์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางพลัด ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า เมื่อโจทก์ทราบจากนายณัฐ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์เดินทางไปที่บริเวณก่อสร้างอาคารพบแผ่นป้ายประกาศโครงการงานก่อสร้างระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิก แต่โจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิก จากนั้นโจทก์ไปตรวจสอบพบว่า หนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพ หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน และภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมของโจทก์ ซึ่งมีลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์จึงไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโททนงค์ ให้ดำเนินคดี และพันตำรวจโททนงค์พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานดำเนินการส่งหนังสือและภาพถ่ายใบอนุญาต พร้อมกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ไปให้กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพิสูจน์ ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 พยานได้รับแจ้งผลจากกองพิสูจน์หลักฐานว่า ว่าที่พันตำรวจโทหญิงพรสวรรค์ ประจำกองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจพิจารณาลายมือชื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์โดยละเอียดแล้ว มีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกัน จึงลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ จึงเชื่อได้ว่าพันตำรวจโททนงค์ดำเนินการส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์และได้รับผลตามรายงานการตรวจพิสูจน์จริง แม้โจทก์จะมิได้นำว่าที่พันตำรวจโทหญิงพรสวรรค์มาเบิกความและรายงานการตรวจพิสูจน์ จะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากการตรวจพิสูจน์ก็ตาม แต่เมื่อผลการตรวจพิสูจน์รับฟังได้ตรงกับข้อนำสืบของโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเพียงจำเลยที่ 4 มาเบิกความปฏิเสธลอย ๆ เพียงว่าไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ปลอม พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้เชื่อว่าลายมือชื่อในเอกสารที่ระบุว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์นั้นเป็นลายมือชื่อปลอม ส่วนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์ปลอมนั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า การขออนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือแบบก่อสร้าง พนักงานบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อผู้ลงชื่อในแบบทั้งหมดและเป็นผู้ไปดำเนินการขออนุญาตที่สำนักงานเขตบางพลัด โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 4 กลับเบิกความว่า ส่วนงานสถาปัตย์จำเลยที่ 4 ให้นายโต้ง (ไม่ทราบชื่อจริงและชื่อสกุล) รุ่นน้องในสถาบันเดียวกับจำเลยที่ 4 เป็นผู้ไปดำเนินการให้สถาปนิกลงลายมือชื่อในฐานะผู้ออกแบบ จำเลยที่ 4 เสียค่าใช้จ่ายให้แก่นายโต้งจำนวน 100,000 บาท นายโต้งโทรศัพท์แจ้งชื่อและหมายเลขใบอนุญาต จำเลยที่ 4 แจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการระบุรายละเอียดไว้ในแบบแล้วมอบเอกสารให้นายโต้งไปให้สถาปนิกลงลายมือชื่อ และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ระบุว่า สถาปนิกบริษัทจำเลยที่ 3 ลาออกกำลังรับสมัครสถาปนิกใหม่แต่โครงการต้องดำเนินการตามระยะเวลา จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้นายโต้งพนักงานบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้หาสถาปนิก จากนั้นนายโต้งแจ้งว่าโจทก์เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบก่อสร้างและควบคุมงาน โจทก์มอบภาพถ่ายใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแก่นายโต้ง นายโต้งให้ข้อมูลแก่จำเลยที่ 3 ในการกรอกลงในเอกสาร จำเลยที่ 3 และที่ 4 เชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์จริง ดังนี้ เห็นได้ว่าคำเบิกความของจำเลยที่ 4 กับข้ออ้างในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวขัดแย้งกันเองคำเบิกความของจำเลยที่ 4 จึงไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่อ้างว่านายโต้งเป็นรุ่นน้องสถาบันเดียวกันกับจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 กลับไม่ทราบว่าชื่อจริงชื่ออะไร และกล้ามอบเงินให้นายโต้งจำนวน 100,000 บาท เพียงแต่ให้นายโต้งแจ้งชื่อและหมายเลขใบอนุญาต พร้อมเอาเอกสารไปให้สถาปนิกลงลายมือชื่อโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้เบิกความว่า มอบเงินให้สถาปนิกเท่าใด นายโต้งได้เงินค่าดำเนินการเท่าใด อีกทั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นำตัวนายโต้งมาเบิกความยืนยันโดยอ้างว่าติดตามตัวนายโต้งไม่พบ จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายโต้งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงหรือไม่ นอกจากนี้จำเลยที่ 4 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมประเภทภาคีสมาชิก ย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในระดับผู้มีวิชาชีพทางการก่อสร้าง จำเลยที่ 4 ย่อมต้องทราบเป็นอย่างดีว่า การออกแบบก่อสร้างอาคารจะต้องมีสถาปนิกลงลายมือชื่อรับรอง ทั้งในการขออนุญาตจะต้องมีหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพ หนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงาน ทั้งในระหว่างก่อสร้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมต้องทราบดีว่าสถาปนิกที่ลงลายมือชื่อในแบบการก่อสร้างหรือการขออนุญาตก่อสร้างจะต้องมาควบคุมงานการก่อสร้างด้วย แต่จำเลยที่ 4 กลับตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยพบโจทก์ในสถานที่ก่อสร้าง และไม่ทราบว่าจะต้องมีสถาปนิกมาควบคุมงานด้วยหรือไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 4 จึงไม่อาจโยนความผิดไปให้นายโต้งซึ่งจะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ก็ตามเพื่อปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นการกระทำของนายโต้ง ไม่ทราบว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกจริง ไม่ทราบว่ามีการลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในเอกสารต่าง ๆ กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 4 รู้อยู่ว่า มีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในสำเนาใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ในหนังสือรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2552 และในหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานตามมาตรา 29 (แบบ น.4) แต่จำเลยที่ 4 ยังคงใช้เอกสารปลอมนั้น และจำเลยที่ 4 รู้ว่าโจทก์ไม่ได้รับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบแต่กลับมีเจตนานำชื่อโจทก์มาลงไว้ว่าโจทก์เป็นสถาปนิกในป้ายประกาศบริเวณที่ก่อสร้าง การกระทำของจำเลยที่ 4 และในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่เกี่ยวกับค่าเสียหาย ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่าไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้นำสืบว่าความเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้นั้นต่ำเกินไป สมควรกำหนดให้ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกาว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดสูงเกินไป ขอให้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนลงนั้น โจทก์นำผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ กรรมการสภาสถาปนิกเบิกความเป็นพยานในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาชีพสถาปนิกว่า การที่สถาปนิกถูกแอบอ้างชื่อไปใช้ในการออกแบบก่อสร้างและควบคุมการก่อสร้างอาคาร ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง มีผลเสียหายร้ายแรงต่ออาคารสิ่งปลูกสร้าง เพราะแสดงว่าอาคารที่ก่อสร้างมิได้รับการออกแบบและรับรองจากสถาปนิกวิชาชีพ อาจเกิดความเสียหายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างและต่อชีวิตของผู้ที่เข้าใช้ประโยชน์ในอาคารสิ่งปลูกสร้างนั้น นอกจากนี้ ยังมีผลเสียหายต่อตัวสถาปนิกที่ถูกแอบอ้างเพราะในเบื้องต้นเมื่อเกิดการเสียหายต่ออาคารหรือต่อชีวิตผู้อื่น สถาปนิกที่มีชื่อเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก็จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทั้งทางอาญาและทางวิชาชีพ กว่าจะพิสูจน์ตัวเองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องใช้เวลา หรือกว่าจะพิสูจน์ความจริงว่าสถาปนิกผู้นั้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจไม่สามารถเยียวยาความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นไปก่อนหน้าแล้วได้ สำหรับราคาค่าก่อสร้างอาคารตามรูปแบบอาคารตามแบบแปลนเอกสาร สามารถประเมินราคาค่าก่อสร้างงานสถาปัตย์ได้ โดยจะมีราคาประมาณตารางเมตรละ 15,000 ถึง 20,000 บาท พื้นที่อาคารมีจำนวนประมาณ 2,880 ตารางเมตร ตามใบอนุญาตก่อสร้าง ก็จะมีราคาประมาณ 43,000,000 ถึง 57,000,000 บาท การประเมินราคาดังกล่าวจะมีอัตราของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการวิชาชีพขั้นพื้นฐานไว้ ตามคู่มือสถาปนิก หากอาคารราคาประมาณ 45,000,000 บาท ก็จะคำนวณค่าจ้างออกแบบของสถาปนิกได้จำนวนประมาณ 2,462,000 บาท และสามารถคิดเป็นส่วนงานออกแบบสถาปัตย์สำหรับสถาปนิกประมาณร้อยละ 60 คิดเป็นค่าจ้างได้จำนวนประมาณ 1,477,200 บาท ส่วนค่าควบคุมงานก็จะมีค่าจ้างต่างหากอีกประมาณ 1 เท่าตัวของค่าออกแบบ เมื่อรวมทั้งค่าออกแบบและควบคุมก็จะมีค่าจ้างจำนวนประมาณ 2,954,400 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นควรกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ควรได้รับ หากมีการจ้างโจทก์เป็นสถาปนิกและควบคุมงาน โดยกำหนดตามอัตราที่ระบุไว้ในคู่มือสถาปนิก ซึ่งจัดทำโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาค่าก่อสร้างอาคารตามคำเบิกความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ที่คำนวณราคาไว้ตั้งแต่ 30,000,000 บาท ถึง 45,000,000 บาท จึงเป็นการกำหนดราคาค่าก่อสร้างอาคารที่พอสมควรแล้ว โดยคำนวณค่าออกแบบสถาปัตย์สำหรับสถาปนิกเป็นเงิน 1,477,200 บาท ที่โจทก์จะได้รับในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารเป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คงมีปัญหาเฉพาะค่าเสียหายที่คำนวณจากค่าควบคุมงานก่อสร้างเท่านั้น เมื่อตรวจดูใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ข้อ 3. ระบุว่า มีนายชาญณรงค์ จำเลยที่ 4 และโจทก์เป็นผู้ควบคุมงานแต่สถาปนิกผู้ควบคุมงานมีเพียงคนเดียวคือโจทก์ ส่วนนายชาญณรงค์และจำเลยที่ 4 เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงานมิใช่สถาปนิกผู้ควบคุมงาน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ในส่วนนี้ เพียงหนึ่งในสามศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรกำหนดให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายในส่วนนี้ตามจำนวนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาส่วนนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในประเด็นเรื่องสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ทำการชี้สองสถาน และกำหนดประเด็นข้อพิพาทเป็นข้อที่ 2 ว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ มูลความแห่งคดีจึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความถือว่าได้ทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ถือว่ามีการว่ากล่าวเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้น เมื่อคดีขึ้นมาถึงศาลฎีกาแล้ว เห็นควรวินิจฉัยประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์เบิกความว่าทราบเหตุแห่งการกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โดยนายณัฐโทรศัพท์แจ้งว่ามีป้ายโครงการระบุชื่อโจทก์เป็นสถาปนิกโครงการก่อสร้างโรงแรมริเวอร์ไซด์ โจทก์จึงเดินทางไปดูป้ายดังกล่าว ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตปลูกสร้างโดยในเอกสารมีลายมือชื่อปลอมของโจทก์ โดยจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางพลัดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิด เมื่อนายณัฐโทรศัพท์แจ้งเรื่องให้ทราบและโจทก์เดินทางมาดูป้ายประกาศดังกล่าว วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 แต่โจทก์เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สำนักงานเขตบางพลัด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ยื่นขออนุญาตก่อสร้างโดยในเอกสารมีลายมือชื่อปลอมของโจทก์โดยจ้างจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ถือว่าโจทก์รู้ตัวจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 ถือว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่รู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share