คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 968/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องเดิมของโจทก์เรียกร้องค่าเลี้ยงดูเฉพาะตัวโจทก์เองเท่านั้น การที่โจทก์ร้องขอให้เพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกจึงต้องเป็นเรื่องสืบเนื่องโดยตรงจากคำฟ้องเดิมของโจทก์นั้นเอง จะยกเอาประเด็นใหม่ขึ้นมาประกอบ อาทิเรื่องความจำเป็นเกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรอีกด้วย เช่นนี้ ไม่ได้ เพราะค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับตัวโจทก์เองโดยเฉพาะในฐานะที่เคยเป็นภรรยา กับค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับบุตรเป็นคนละเรื่องคนละประเด็น และอาศัยหลักกฎหมายต่างกัน
แม้ในคำร้องของโจทก์ ที่ขอค่าอุปการะเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น จะได้กล่าวอ้างถึงเรื่องบุตรตลอดจนไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้แก่บุตรและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉันกล่าวอ้างถึงเช่นนั้น และฝ่ายจำเลยจะไม่โต้แย้งด้วยก็ตาม แต่เมื่อไม่ใช่ประเด็น ศาลฎีกาก็ไม่จำต้องวินิจฉัยถึงความข้อนี้
เมื่อเงินค่าเลี้ยงดูที่โจทก์ได้รับอยู่เป็นผลสืบเนื่องมาจากนิติกรรมโดยศาลบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้กระทำไว้ต่อกันในวันจดทะเบียนหย่านั้น ย่อมไม่ใช่เป็นเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลกำหนดให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1506 และ มาตรา 1594 วรรค 2 คำว่า “ค่าเลี้ยงดู” กับ ” ค่าอุปการะเลี้ยงดู” นั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เหตุแห่งการได้มาซึ่งค่าเลี้ยงดูหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับภรรยานั่นแหละ เป็นสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดผลแตกต่างกันขึ้นได้
ตามมาตรา 1506 นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเห็นว่า สามีเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว หากตรงข้ามภรรยาเป็นฝ่ายผิดแล้ว ศาลจะให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ภรรยาก็ไม่ได้ กรณีที่ศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ภรรยาตามมาตรานี้ จึงเป็นไปตาม มาตรา 1594 นั้นด้วย ซึ่งเป็นกำหนดตามที่ศาลพิจารณาเห็นสมควร ในวาระหนึ่งต่อมา เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีอำนาจที่จะส่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตาม ควรแก่กรณี โดยอาศัย มาตรา 1596 นั้น
เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิ (เกี่ยวกับค่าเลี้ยงดู) ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลก็ไม่ต้องคำนึงถึงความผิดความถูกของฝ่ายใด จำนวนเงินมากหรือน้อยไปเพียงใด กรณีมิได้เป็นไปตาม มาตรา 1506 และ 1594 จึงจะยกเอา มาตรา 1596 ขึ้นมาปรับแก่คดีไม่ได้ เมื่อศาลบังคับคดีให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ข้อพิพาททั้งมวลก็ต้องยุติไปตามนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์จำเลยจะเบียนหย่าขาดจากสามีภรรยากันตั้งแต่วันที่ ๙ มิ.ย. ๒๔+ ในหนังสือหย่านั้นได้บันทึกข้อตกลงไว้ว่าจำเลยยินยอมให้ค่าเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ ๘๐ บาท แต่แล้วจำเลยไม่ให้ค่าเลี้ยงดูแก่โจทก์ตามนั้น โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ ๘๐ บาท ตลอดมาแล้ว
บัดนี้ โจทก์ร้องว่า ค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงเดือนละ ๘๐ บาท ไม่พอแก่การยังชีพของโจทก์และบุตรตลอดจนการศึกษาของบุตรด้วย และจำเลยมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงขอให้ศาลสั่งเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เป็นเดือนละ ๓๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้ว่า ค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๘๐ บาทนี้ โจทก์จำเลยตกลงกันกำหนดขึ้นเองและศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายตามข้อตกลงนั้น คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๘ (๒) จะมาร้องขอให้เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วไม่ได้ และค่าเลี้ยงดูในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. บรรพ ๕ ลักษณะ ๓ และ รายได้ของจำเลยไม่ดีไปกว่าเดิมพอที่จะเพิ่มค่าเลี้ยงดูให้โจทก์ได้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกัน ค่าเลี้ยงดูที่โจทก์จำเลยตกลงกันมานี้ เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. ซึ่งตามมาตรา ๑๕๙๖ ศาลสั่งเปลี่ยนแปลงได้ เวลานี้ค่าครองชีพสูงขึ้น เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงเดือนละ ๘๐ บาท ไม่พอแก่การยังชีพของโจทก์ และบุตร ๑ คน ซึ่งเกิดกับจำเลย ไม่สามารถจะให้การศึกษาเล่าเรียนแก่บุตรได้ และจำเลยก็มีรายได้มากขึ้นด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำเลยเพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์จากเดือนละ ๘๐ บาทเป็นเดือนละ ๒๐๐ บาท นับแต่วันที่โจทก์ยื่นคำร้องเป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เริ่มต้นตั้งแต่หย่าตลอดมาจนฟ้องคดี และศาลพิพากษาไปแล้วนั้น ยังมิได้มีใครกล่าวอ้างถึงเรื่องบุตรและค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับบุตรกันเลย
โจทก์เพิ่งจะได้กล่าวอ้างถึงเรื่องบุตรและความจำเป็นอันเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของบุตรขึ้นมาประกอบเหตุผลตามคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่นี้ เองเป็นครั้งแรก และได้นำสืบแสดงเหตุผลว่า เมื่อจดทะเบียนหย่ากัน โจทก์เพิ่งตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนเท่านั้น จึงบันทึกไว้ในหนังสือหย่าว่าไม่มีบุตรด้วยกัน
คำฟ้องเดิมของโจทก์เรียกร้องค่าเลี้ยงดูเฉพาะตัวโจทก์เองนั้น ดังนั้น การที่โจทก์ร้องขอให้เพิ่มค่าอุปการะเลี้ยงดูในชั้นนี้ จึงต้องเป็นเรื่องสืบเนื่องโดยตรงจากคำฟ้องเดิมของโจทก์นั้นเอง จะยกเอาประเด็นใหม่ขึ้นมาประกอบ อาทิเรื่องความจำเป็นเกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรอีกด้วย เช่นนี้ ไม่ได้ เพราะค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับตัวโจทก์เองโดยเฉพาะในฐานะที่เคยเป็นภรรยา กับค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับบุตรเป็นคนละประเด็น และอาศัยหลักกฎหมายต่างกัน
การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กล่าวอ้างถึงเรื่องบุตรตลอดจนไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้แก่บุตรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในคำร้องของโจทก์จะได้กล่าวอ้างไว้ และฝ่ายจำเลยจะไม่โต้แย้งด้วยก็ตาม ก็ไม่ใช่ประเด็นในชั้นนี้ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงความข้อนี้
เงินค่าเลี้ยงดูเดือนละ ๘๐ บาท ที่โจทก์ได้รับอยู่ในขณะนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากนิติกรรม โดยศาลบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งได้กระทำไว้ต่อกันในวันจดทะเบียนหย่า เท่านั้นเอง หาใช่เป็นเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ศาลกำหนดให้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐๖ และ มาตรา ๑๕๙๔ วรรค ๒ นั้นไม่ จริงอยู่คำว่า “ค่าเลี้ยงดู” กับ ค่าอุปการะเลี้ยงดู” นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยว่า มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่เหตุแห่งการได้มาซึ่งค่าเลี้ยงดูหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับภรรยานั่นแหละเป็นสาระสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลแตกต่างกันขึ้นได้
ตามมาตรา ๑๕๐๖ นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเห็นว่า สามีเป็นผู้ผิดแต่ฝ่ายเดียว หากตรงข้าม ภรรยาเป็นฝ่ายผิดแล้ว ศาลจะให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ภรรยาก็ไม่ได้ กรณีที่ศาลกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่ภรรยาตามมาตรานี้ จึงเป็นไปตาม มาตรา ๑๕๙๔ นั้นด้วย ซึ่งเป็นการกำหนดตามที่ศาลพิจารณาเห็นสมควรในวาระหนึ่งต่อมา เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงมีอำนาจที่จะสั่งให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามควรแก่กรณี โดยอาศัย มาตรา ๑๕๙๖ นั้น
แต่เฉพาะคดีเรื่องนี้ โจทก์ได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความต่างหาก ศาลไม่ต้องคำนึงถึงความผิดความถูกของฝ่ายใด จำนวนเงินมากหรือน้อยไปเพียงใด กรณีมิได้เป็นไปตาม มาตรา ๑๕๐๖ และ ๑๕๙๔ เสียแล้ว จะยกเอามาตรา ๑๕๙๖ ขึ้นมาปรับแก่คดีเรื่องนี้ไม่ได้ เมื่อศาลบังคับคดีให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และคดีถึงที่สุดไปแล้ว ข้อพิพาททั้งมวลก็ต้องยุติไปตามนั้น
ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ โดยให้ยกคำร้องของโจทก์แต่คำพิพากษานี้ ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ในการฟ้องร้องอันเกี่ยวกับค่าอุปการะเลี้ยงดูสำหรับบุตร

Share