คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 963/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ที่บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ฯลฯ” หมายความว่าเมื่อมีบุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจฟ้องร้องว่ากล่าวหรือต่อสู้คดีโดยลำพังผู้เดียวได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ตามคำสั่งศาล จึงย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของ จ.ตามกฎหมาย การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของ จ. อันเป็นทรัพย์มรดกของ จ. มาเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นทายาทโดยธรรมของ จ.หรือไม่ ทั้งกรณีไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ทำให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทายาทโดยธรรมจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันเอง โจทก์จะอาศัยสิทธิในฐานะเจ้าของรวมในที่พิพาทมาฟ้องร้องมิได้
โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินพิพาท ๒ แปลง ซึ่งเดิมเป็นของนายจาก นางทอง เสริมหมื่นไวย สามีภรรยาที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ก่อนถึงแก่กรรมมิได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและไม่ปรากฏทายาทโดยธรรม โจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนมรดกในกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเฉพาะส่วนของนางทอง เสริมหมื่นไวยโจทก์ยังคงยึดถือที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเต็มเนื้อที่ตามโฉนด ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายจาก เสริมหมื่นไวย ทั้งที่มิได้เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม แล้วให้เจ้าพนักงานที่ดิน จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายจาก เสริมหมื่นไวย มาเป็นของตนโดยมิชอบ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ก็จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เฉพาะส่วนที่ได้รับโอนมานั้นให้แก่จำเลย ที่ ๒ ที่ ๓ โดยเสน่หา ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนรับโอนมรดกเฉพาะส่วนของนายจาก เสริมหมื่นไวย ทั้งในฐานะผู้จัดการมรดกและฐานะทายาทและที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองฉบับแก่โจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มิใช่ทายาทโดยมิได้เป็นบุตรบุญธรรมซึ่งมีสิทธิจะได้รับมรดกของนายจาก เสริมหมื่นไวย แต่ประการใด ส่วนจำเลยที่ ๑เป็นบุตรนางกลิ่น ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายจาก เสริมหมื่นไวย แต่นางกลิ่นถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงเป็นทายาทผู้รับมรดกแทนที่ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดก แล้วขอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามฟ้อง ซึ่งเป็นมรดกต่อเจ้าพนักงาน โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จากนั้นจึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเช่นกัน ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย แล้วฟังว่าตามคำฟ้องของโจทก์ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ เพราะจำเลยได้สิทธิมาโดยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่พิพาทและได้ครอบครองที่พิพาททั้งหมดแต่ผู้เดียว จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่พิพาทและให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่พิพาทแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๕๙ บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก ฯลฯ” บทบัญญัตินี้หมายความว่าเมื่อมีบุคคลภายนอกมายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งอาจฟ้องร้องว่ากล่าวหรือต่อสู้คดัโดยลำพังผู้เดียวได้ แต่คดีนี้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการมรดกของนายจากตามคำสั่งศาล จึงย่อมมีอำนาจจัดการมรดกของนายจากตามกฎหมายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของนายจากอันเป็นทรัพย์มรดกของนายจากมาเป็นของจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยที่ ๑ ย่อมกระทำได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ ๑ จะเป็นทายาทโดยธรรมของนายจากหรือไม่ ทั้งกรณีไม่มีประเด็นเรื่องโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยปรปักษ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ที่พิพาทส่วนที่เป็นมรดกของนายจากดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ทายาทโดยธรรมของนายจากจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันเอง เมื่อโจทก์มิได้เป็นทายาทโดยธรรมของนายจากจะมาฟ้องร้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทย่อมไม่ได้
อนึ่งคดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ควรเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท ตามตาราง ๑ ข้อ ๒ ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์พิพาท (ตามคำสั่งศาลชั้นต้น) จึงเกินอัตราตามกฎหมาย
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจาก ๒๐๐ บาทให้โจทก์

Share