แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันที่ 5 มกราคม 2551 โจทก์ปวดท้องน้อยด้านซ้ายจึงไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดและให้ยาแก้ปวดมารับประทานแล้วให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 6 มกราคม 2551 โจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ศ. เนื่องด้วยปวดท้องน้อยด้านซ้าย แพทย์สันนิษฐานว่าเป็นเนื้องอกยื่นออกจากมดลูกหรือเป็นเนื้องอกของรังไข่ด้านซ้าย แพทย์นัดใหม่วันที่ 9 มกราคม 2551 ในวันที่ 6 และวันที่ 9 มกราคม 2551 โจทก์โทรศัพท์สอบถามขอรับการผ่าตัดจากสถานพยาบาลตามสิทธิแต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 หรือห้องผ่าตัดไม่ว่าง ถึงวันที่ 9 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดโจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ศ. และรับการผ่าตัดในวันที่ 10 มกราคม 2551 โดยเสียค่ารักษาพยาบาลไป 67,332 บาท
เมื่อแพทย์ของสถานพยาบาลตามสิทธิวินิจฉัยแล้วว่าต้องรักษาโจทก์ด้วยการผ่าตัดแต่กลับไม่ดำเนินการรับโจทก์ไว้รักษาหรือวางแผนการรักษาทันที โดยอ้างว่าอาการของโจทก์ไม่รุนแรงและไม่ฉุกเฉิน การผ่าตัดรอได้ เพียงแต่ให้ยาแก้ปวดไปรับประทานที่บ้าน เป็นการไม่ให้การรักษาที่จำเป็นและสมควรแก่อาการป่วยของโจทก์ โจทก์โทรศัพท์สอบถามขอรับการผ่าตัดจากสถานพยาบาลตามสิทธิถึง 2 ครั้ง ก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดจากโรงพยาบาล ศ. แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ศ. เป็นกรณีโจทก์ใช้ความพยายามที่จะขอรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้อย่างเต็มที่เท่าที่ตนจะพึงทำได้แล้ว ถือเป็นเหตุสมควรที่โจทก์ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจัดให้โจทก์ได้รับบริการทางการแพทย์และตามสัญญา เมื่อสถานพยาบาลตามสิทธิไม่ให้การรักษา จึงเป็นกรณีจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามจำนวนที่โจทก์เสียไปคืนแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจากการเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ เพียงใด ทั้ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายมหาชนที่ศาลต้องบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมยิ่งกว่าข้อจำกัดของวิธีพิจารณาความเช่นที่ใช้ในคดีแพ่งทั่วไป ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจยกเหตุตามมาตรา 59 ขึ้นวินิจฉัยได้แม้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น
แม้ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลว่าเพราะโจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ซึ่งเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยทั้งสองวินิจฉัยว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ต้องรับการรักษาในทันทีในสถานพยาบาลอื่นนอกจากสถานพยาบาลตามสิทธิ ก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์และต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ จึงต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับผลของคำพิพากษา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติคณะกรรมการการแพทย์ที่ 37/2551 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 2071/2552 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552 และให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวน 67,332 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2071/2552 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ จำนวน 67,332 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทซันไชน์บิสสิเนสคอลเลคชั่น จำกัด ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจำเลยที่ 1 ออกบัตรรับรองให้สิทธิโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ จึงเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิของโจทก์ วันที่ 5 มกราคม 2551 โจทก์ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย ปัสสาวะทุก 15 ถึง 20 นาที จึงไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ แนะนำให้ผ่าตัดและให้ยาแก้ปวดมารับประทานแล้วให้โจทก์กลับบ้าน วันที่ 6 มกราคม 2551 โจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิครินทร์เนื่องด้วยมีอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย แพทย์ตรวจภายในและใช้อัลตราซาวด์พบว่าโจทก์มีก้อนอยู่ด้านหน้ามดลูกค่อนไปทางซ้ายขนาด 6.2 x 4.7 x 4.9 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นเนื้องอกยื่นออกจากมดลูกหรืออาจเป็นเนื้องอกของรังไข่ด้านซ้าย แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดและนัดใหม่ในวันที่ 9 มกราคม 2551 ถึงวันนัดโจทก์ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิครินทร์และรับการผ่าตัดในวันที่ 10 มกราคม 2551 เสียค่ารักษาพยาบาล 67,332 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โดยถือตามความเห็นของคณะที่ปรึกษาทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งสรุปว่า โจทก์ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่เป็นกรณีที่ไม่เร่งด่วน การผ่าตัดรอได้ ที่โจทก์ไปรับการรักษาผ่าตัดที่โรงพยาบาลอื่นไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเอง ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยว่า การผ่าตัดของโจทก์ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเร่งด่วนที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที การผ่าตัดของโจทก์เป็นการรับการรักษาตามที่แพทย์นัดตามความประสงค์ของโจทก์เอง ซึ่งโจทก์สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้โดยปลอดภัย และสถานพยาบาลตามสิทธิได้แนะนำให้โจทก์ผ่าตัดโดยมีแผนการผ่าตัดในวันที่ 19 มกราคม 2551 อยู่แล้ว แล้ววินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า อาการป่วยของโจทก์ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์ผู้ให้การรักษาโจทก์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิเบิกความเองว่า หากคนไข้ของโรงพยาบาลออกค่ารักษาพยาบาลเองหรือมีบริษัทประกันออกค่ารักษาพยาบาลให้ คนไข้ต้องการผ่าตัดและเป็นกรณีที่จะต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัดสามารถดำเนินการได้ทันที เว้นแต่ห้องที่จะทำการผ่าตัดไม่ว่าง แต่สำหรับคนไข้ที่ใช้สิทธิประกันสังคมถ้าไม่มีกรณีฉุกเฉินหรือเจ็บป่วยรุนแรง ก่อนทำการผ่าตัดจะต้องขออนุญาตผ่านคณะกรรมการประกันสังคมก่อนจึงจะทำการผ่าตัดได้ ซึ่งกรณีของโจทก์ต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการสถานพยาบาลตามสิทธิก่อน สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล สมุทรปราการ อันเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิมุ่งเน้นค่ารักษาพยาบาลเป็นตัวเงินที่จะได้รับมากกว่าหน้าที่ให้การรักษาผู้ป่วย การที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่กลับไม่ดำเนินการในทันที โดยอ้างว่าอาการไม่รุนแรงและไม่ฉุกเฉิน ซึ่งไม่มีข้ออ้างนี้ในผู้ป่วยที่เสียค่ารักษาพยาบาลเองหรือมีบริษัทประกันออกให้ การทำบันทึกของแพทย์ผู้ให้การรักษาโจทก์ของสถานพยาบาลตามสิทธิให้เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 19 มกราคม 2551 ไม่ได้ทำในวันที่ 5 มกราคม 2551 และไม่มีการแจ้งให้โจทก์ทราบถึงแผนการรักษาและการผ่าตัด ที่โจทก์ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิครินทร์ถือว่าเป็นความจำเป็นที่โจทก์ไม่สามารถรับบริการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลตามสิทธิได้ โดยเหตุเกิดจากสถานพยาบาลตามสิทธิเอง การที่โจทก์เจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ และสถานพยาบาลตามสิทธิปฏิเสธที่จะให้การรักษาพยาบาล ทำให้โจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิครินทร์จึงไม่ใช่เพราะความสมัครใจของโจทก์เอง แต่ถือเป็นเหตุสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้บริการประกันสังคม มีหน้าที่จัดการบริการรักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ไม่อาจควบคุมดูแลสถานพยาบาลตามสิทธิได้ จึงต้องรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ตามที่จ่ายไปจริงและจำเป็น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าอาการของโจทก์เป็นเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลที่อื่นทันที
มีปัญหาสมควรวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศิครินทร์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลอื่นอันมิใช่สถานพยาบาลตามสิทธิของโจทก์ โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือไม่ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ประกันตน…ซึ่งมีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ถ้าทำงานหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตท้องที่ใดให้ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่งที่อยู่ในเขตท้องที่นั้น เว้นแต่ในกรณีที่เขตท้องที่นั้นไม่มีสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่งหรือมีแต่ผู้ประกันตน…มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลดังกล่าวได้ ก็ให้ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามวรรคหนึ่งที่อยู่ในเขตท้องที่อื่นได้” คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า อาการป่วยของโจทก์ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด การกำหนดวันเพื่อการผ่าตัดสำหรับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากจำเลยที่ 1 สถานพยาบาลตามสิทธิมีนโยบายต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการของสถานพยาบาลนั้นเสียก่อน ดังนั้นในวันแรกที่โจทก์ไปตรวจอาการที่สถานพยาบาลตามสิทธิ นายแพทย์ศักดิ์ดา ผู้ตรวจรักษาไม่ได้กำหนดวันให้โจทก์เข้ารับการผ่าตัดไว้ทันที บันทึกของนายแพทย์ศักดิ์ดาที่ให้โจทก์เข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 19 มกราคม 2551 ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้เขียนและเขียนเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าทำขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2551 และสถานพยาบาลตามสิทธิไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงแผนการรักษาและผ่าตัดก่อนที่โจทก์จะตัดสินใจเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลศิครินทร์ เมื่อโจทก์ทราบจากนายแพทย์ผู้ตรวจว่าต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โจทก์ขอใช้สิทธิรับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดไว้แล้ว แต่สถานพยาบาลตามสิทธิดังกล่าวไม่ดำเนินการรับไว้รักษาหรือวางแผนการรักษาในทันที โดยอ้างว่าอาการป่วยไม่รุนแรงหรือฉุกเฉินซึ่งมีความแตกต่างจากผู้ป่วยที่เสียเงินค่ารักษาพยาบาลเองหรือมีบริษัทประกันเป็นผู้จ่ายเงินที่สามารถดำเนินการผ่าตัดได้ทันที การที่แพทย์สถานพยาบาลตามสิทธิไม่รักษาเพียงแต่ให้ยาแก้ปวดไปรับประทานที่บ้าน โดยอ้างว่าอาการป่วยของโจทก์ยังไม่รุนแรงหรือฉุกเฉิน การผ่าตัดรอได้นั้น เป็นการไม่ให้การรักษาที่จำเป็นและสมควรแก่อาการป่วยของโจทก์ และจากคำเบิกความของนายแพทย์ศักดิ์ดา แพทย์ของสถานพยาบาลตามสิทธิกับแพทย์หญิงอัจฉรา ผู้ให้การรักษาโจทก์ที่โรงพยาบาลศิครินทร์สอดคล้องกันว่าอาการป่วยของโจทก์จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงที โดยแพทย์ทั้งสองดังกล่าวต่างแนะนำให้โจทก์ผ่าตัด โจทก์ขอให้สถานพยาบาลตามสิทธิดำเนินการให้และโทรศัพท์สอบถามขอรับการผ่าตัดทั้งในวันที่ 6 และวันที่ 9 มกราคม 2551 แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่ได้รับแจ้งว่ายังไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 1 หรือห้องผ่าตัดไม่ว่าง เมื่อโจทก์เจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจนไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศิครินทร์ จากพฤติการณ์ที่ได้ความดังกล่าว โจทก์ได้ใช้ความพยายามที่จะใช้สิทธิขอรับการบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิเพื่อรักษาอาการป่วยเจ็บโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้อย่างเต็มที่เท่าที่ตนจะพึงทำได้แล้ว ทั้งเมื่อนำเอาความทุกข์ทางกายและจิตใจของโจทก์มาพิจารณา ประกอบกับการที่โจทก์ได้รับการปฏิบัติจากสถานพยาบาลตามสิทธิ ข้อที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบด้วยเหตุผลเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสองแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าอาการป่วยเจ็บของโจทก์จะเป็นกรณีฉุกเฉินตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลศิครินทร์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลอื่นได้โดยชอบ และที่ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัยว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่นั้นถูกต้องแล้วเพราะข้อวินิจฉัยไม่มีผลให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าอาการป่วยเจ็บของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างประโยชน์จากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 การที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้ได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานจากการเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ เพียงใด ทั้งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายมหาชนที่ศาลต้องบังคับใช้ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมยิ่งกว่าข้อจำกัดทางเทคนิคของวิธีพิจารณาความเช่นที่ใช้ในคดีแพ่งทั่วไป ดังนั้น ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจยกเหตุแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 ขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์พร้อมดอกเบี้ยเพียงใด และศาลแรงงานกลางมีอำนาจกำหนดได้เองหรือไม่ เรื่องนี้แม้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตน…ไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคสอง ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องจ่ายให้แก่สถานพยาบาลอื่นนั้นตามจำนวนที่สำนักงานกำหนด โดยคำนึงถึงสภาพของการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย…สภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละเขตท้องที่ และลักษณะของการบริการทางการแพทย์ที่ได้รับ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นนอกเหนือจากสถานพยาบาลตามสิทธิเพราะเหตุที่สถานพยาบาลตามสิทธิปฏิเสธที่จะให้การรักษาพยาบาล ซึ่งไม่มีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉบับใดกำหนดถึงกรณีดังกล่าวไว้ การที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามกฎหมายและตามสัญญาที่จะต้องจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบถ้วนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามมาตรา 62 และมาตรา 63 ได้รับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่โจทก์มีสิทธิ แต่กลับปรากฏชัดว่าสถานพยาบาลตามสิทธิไม่ให้การรักษาโจทก์ จนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นและต้องเสียค่ารักษาเอง หากสถานพยาบาลตามสิทธิรับตัวโจทก์ไว้และทำการรักษาให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่จำต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวน 67,332 บาท นั้น ดังนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนถูกต้องได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามจำนวนที่โจทก์ต้องเสียไปคืนแก่โจทก์ เงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงกำหนดให้ตามขอ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 67,332 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 2071/2552 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552 นั้นถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลแรงงานกลางจะเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ด้วยเหตุผลว่า เพราะโจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ โดยเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยทั้งสองวินิจฉัยว่า อาการเจ็บป่วยของโจทก์ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ต้องรับการรักษาทันทีในสถานพยาบาลอื่นนอกจากสถานพยาบาลตามสิทธิก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ และต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ ดังนั้น จึงจำต้องเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อมิให้ขัดแย้งกับผลของคำพิพากษา ส่วนที่ศาลแรงงานกลางมิได้ให้เหตุผลหักล้างว่า การเจ็บป่วยของโจทก์มิใช่กรณีฉุกเฉินก็เพราะอาศัยเหตุผลอื่นที่เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 วรรคสอง แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องอื่นอีก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน