แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกัน เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 แต่ต่อมากลับถอนฟ้องจำเลยที่ 4 โดยอ้างว่าจะไปดำเนินคดีต่างหาก ถ้ารับฟังว่ามีการรับประกันภัยจริง เท่ากับสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 มีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์ต้องไปรับชดใช้จากจำเลยที่ 4 เอง การถอนฟ้องดังกล่าวเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนเป็นที่พอใจ ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จึงเข้าเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดใด ๆ กับโจทก์มีผลให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน ทั้งจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 ไม่ถูกต้อง นั้น ถือเป็นฎีกาที่นอกเหนือไปจากอุทธรณ์เป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,359,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องลดทุนทรัพย์จาก 2,359,000 บาท เป็น 1,100,000 บาท และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และแก้ไขคำฟ้องได้ และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถอนคำให้การให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 มกราคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 3) ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความ 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 3 สรุปความว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำนวน 600,000 บาท จนเป็นที่พอใจไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จึงเข้าเงื่อนไขสัญญาประกันภัยว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์อีกต่อไป มีผลยุติให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกันตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย และทั้งจำนวนเงิน 600,000 บาท ที่โจทก์ได้รับชำระจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว เมื่อนำไปหักจากจำนวนทุนทรัพย์ภายหลังที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องที่ลดจำนวนเหลือ 1,100,000 บาทแล้ว จะเหลือค่าเสียหายตามคำฟ้องที่โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 ได้เพียงจำนวน 500,000 บาท ไม่ใช่จำนวน 1,100,000 บาท ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 ยกปัญหาขึ้นอ้างคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีสัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งกันและกันว่าหากรถยนต์ที่เอาประกันภัยประเภท 1 ชนกัน ไม่ว่าฝ่ายใดผิดหรือถูก ต่างฝ่ายตกลงซ่อมรถยนต์ของฝ่ายตนเอง เมื่อโจทก์แจ้งเอาประกันภัยประเภท 1 กับจำเลยที่ 4 โดยผ่านตัวแทนของจำเลยที่ 4 และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีด้วย แต่โจทก์กลับถอนฟ้องจำเลยที่ 4 โดยประสงค์จะไปดำเนินคดีต่างหาก ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการรับประกันภัยไว้จริง เท่ากับว่า สัญญาสละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวมีผลบังคับให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่โจทก์ต้องไปรับการชดใช้เอาจากจำเลยที่ 4 เอง การถอนฟ้องจำเลยที่ 4 อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว เหตุดังกล่าวจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ที่ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยเช่นกัน และรถยนต์ของโจทก์ยังสามารถซ่อมให้อยู่ในสภาพดีได้แม้จะไม่เหมือนเดิม โดยค่าใช้จ่ายในการซ่อมไม่เกิน 700,000 บาท และหากจะขายตามสภาพน่าจะได้ราคาถึง 1,500,000 บาท ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงเป็นการนอกเหนือไปจากอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 3 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 3 ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 3 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ