คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ ก. ลูกจ้างกระทำละเมิดและกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีระหว่างโจทก์และ ก. จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่เมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งหมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า ก. ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและให้ยุติเรื่องเพราะ ก. ถึงแก่ความตาย จากนั้นได้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้อำนวยการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจในการบริหารกิจการและเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มาตรา 16, 17 ผู้อำนวยการของโจทก์พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ตามเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่า ก. ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 ย่อมถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงสิทธิเรียกร้องและรู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ก. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2553 แล้ว ไม่ใช่นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้อำนวยการของโจทก์พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 เมษายน 2554 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวเกษรร่วมกันชำระเงิน 83,863.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์มรดกของนางสาวเกษรชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวเกษรเป็นลูกจ้างโจทก์ เข้าทำงานเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2520 และถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาราชประสงค์ ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวเกษรเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 วันที่ 4 พฤษภาคม 2550 ผู้จัดการสาขาอุบลราชธานี ตรวจสอบพบว่าสิ่งปลูกสร้างที่เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อประเภทเคหะสงเคราะห์ของผู้กู้รายนางวัชราภรณ์และนางนิตยาไม่ได้อยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21116 ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นทรัพย์จำนอง จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โจทก์มีคำสั่งที่ กม.11/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่านางสาวเกษรในฐานะคณะกรรมการประเมินราคาหลักทรัพย์ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กำหนดให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 83,863.77 บาท แต่นางสาวเกษรถึงแก่ความตายและพ้นระยะเวลาฟ้องคดีบังคับเอาแก่ทายาทแล้วจึงให้ยุติเรื่อง นายเลอศักดิ์ ผู้อำนวยการของโจทก์ พิจารณาแล้วเห็นชอบและส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลังพิจารณาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วให้นางสาวเกษรรับผิดตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน นายเลอศักดิ์พิจารณาและเห็นชอบให้ดำเนินการให้พนักงานชดใช้ความเสียหายตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า นางสาวเกษรเป็นลูกจ้างโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่นางสาวเกษรกระทำละเมิดและกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีระหว่างโจทก์และนางสาวเกษรจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แต่เมื่อนางสาวเกษรถึงแก่ความตาย กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก” ซึ่งหมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ถ้าเจ้าหนี้ยังไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดกและไม่รู้ หรือไม่ควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกอายุความหนึ่งปีก็ยังไม่เริ่มนับ ตามข้อเท็จจริงโจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่านางสาวเกษรต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและให้ยุติเรื่องเพราะนางสาวเกษรถึงแก่ความตาย จากนั้นได้รายงานผลการสอบสวนต่อนายเลอศักดิ์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของโจทก์และเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการและงานของโจทก์ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มาตรา 16 และในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตามมาตรา 17 นายเลอศักดิ์เป็นผู้กระทำการในนามของโจทก์และเป็นผู้แทนของโจทก์ เมื่อนายเลอศักดิ์พิจารณาเห็นชอบและให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ซึ่งมีข้อความระบุว่านางสาวเกษรได้เสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 ย่อมถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงสิทธิเรียกร้องและรู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนางสาวเกษรซึ่งเป็นเจ้ามรดกตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2553 แล้ว ไม่ใช่นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่นายเลอศักดิ์พิจารณาและเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพราะโจทก์เป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 และนายเลอศักดิ์ผู้อำนวยการของโจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการในนามของโจทก์และเป็นผู้แทนโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2554 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share