คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6492/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่า ส. ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่ ส. ทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งต้องร่วมกันรับผิดในคำสั่งที่ 60/2552 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2552
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พฤติการณ์ของนายสุพรรณ์ที่มีการขอถุงพลาสติกจากนายศิริวงศ์และนางสาววันนา โดยได้รับถุงพลาสติกตามที่ขอมารวบรวมเก็บไว้ ทั้งบอกนายจตุพร ทันทีที่ถาม ประกอบกับกล่องกระดาษวางไว้ที่เปิดเผยในโรงอาหาร นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่าโจทก์และบริษัทไหมทอง จำกัด แจ้งความร้องทุกข์กล่าวหานายสุพรรณ์ลักทรัพย์หรือพยายามลักทรัพย์แต่ประการใด พฤติการณ์การกระทำของนายสุพรรณ์ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า นายสุพรรณ์มีเจตนาที่จะลักทรัพย์หรือพยายามที่จะลักทรัพย์ถุงพลาสติกใส และที่บริษัทไหมทอง จำกัด เลิกจ้างโจทก์มิใช่เกิดจากการกระทำของนายสุพรรณ์และมิใช่เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกันอันพอจะรับฟังได้ว่า การกระทำของนายสุพรรณ์เป็นสาเหตุที่โจทก์ถูกยกเลิกสัญญาทำให้โจทก์เสียหายแต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 60/2552
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะมีอำนาจออกคำสั่งที่ 60/2553 โดยเฉพาะตัว แต่ก็ได้รับหนังสือรับรองอำนาจจากจำเลยที่ 2 ซึ่งชื่อของจำเลยที่ 2 ปรากฏในหนังสือของจำเลยที่ 2 ถึงโจทก์แนบคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรงก็ได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 421 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมานั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม โดยอ้างว่าคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายที่สั่งว่า นายสุพรรณ์ไม่ได้กระทำผิดกรณีร้ายแรงตามมาตรา 119 และให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่นายสุพรรณ์ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ดังนี้ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ และการออกคำสั่งที่ 60/2553 ของจำเลยที่ 3 ได้กระทำไปโดยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคสาม หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่งก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงโจทก์เพื่อส่งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานให้แก่โจทก์ ก็เป็นการปฏิบัติราชการในส่วนงานสารบรรณของทางราชการเท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งดังกล่าวแต่ประการใด เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนต้องร่วมรับผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share