แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความ และให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลอันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่ก็ถือเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.อ. มาตรา 17 และ 84
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 นางสาวชวัลนาถ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้น รายงานต่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นว่า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายธวัชชัย ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ ยื่นฟ้องนายจรัล เป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.2493/2556 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาผิดสัญญา (บัตรเครดิต) เรียกให้ชำระหนี้ โจทก์ได้แต่งตั้งให้นางสาวสุวลีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความของโจทก์ และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาใดไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความนั้น เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตามใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2556 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 จึงลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ท้ายคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.2493/2556 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้แนบสำเนาบัตรประจำตัวสมาชิกสภาทนายความ ประเภทสองปี ใบอนุญาตให้เป็นทนายความเลขที่ 1442/2558 ซึ่งระบุวันออกบัตร 30 กันยายน 2556 บัตรหมดอายุ 29 กันยายน 2558 ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจพบว่าหมายเลขปี พ.ศ. วันออกบัตรหมายเลข “6” และเลขปี พ.ศ. วันบัตรหมดอายุหมายเลข “8” มีร่องรอยการแก้ไข ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลไต่สวนใบอนุญาตทนายความโจทก์มีผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ทนายโจทก์ นางสาวจารุมน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มาศาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลงว่า ได้ลาออกจากบริษัทที่ทำงานให้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว และลายมือชื่อในใบแต่ทนายความรวมถึงเอกสารฟ้องทั้งหมดไม่ใช่ลายมือชื่อของตนเอง ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงว่า เอกสารประกอบคำฟ้องทั้งหมดตนเองเป็นผู้ดำเนินการและได้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ศาลออกหมายเรียกนายทิตนาค ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กรรมการผู้จัดการบริษัทมาเจสติค ลอร์ แอนด์คอลเล็คชั่น จำกัด มาไต่สวน และวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลไต่สวนโดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงว่า เป็นผู้แก้ไขใบอนุญาตให้เป็นทนายความและลงลายมือชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้กระทำ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แถลงว่า ไม่เคยใช้ให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ดำเนินการดังกล่าว ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แถลงว่า ได้ลาออกจากบริษัทดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 และในคดีดังกล่าวตนเองก็ไม่ได้เป็นทนายความ และไม่ได้อนุญาตให้บริษัทใช้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความดังกล่าว และไม่เคยลงลายมือชื่อไว้ในคำฟ้องหรือเอกสารใด ๆ ในคดีหมายเลขดำที่ ผบ.2493/2556 ของศาลชั้นต้น แต่ประการใด จึงมีเหตุสงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามซึ่งเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีพฤติการณ์การเข้าข่ายในความผิดฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาล จึงแจ้งข้อหาฐานร่วมกันละเมิดอำนาจศาลแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ให้การรับสารภาพ
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 เดือน ให้ยกข้อกล่าวหาสำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทมาเจสติค ลอร์ แอนด์คอนเล็คชั่น จำกัด ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เบิกความรับว่า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เพียง 2 วัน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ยังเดินทางไปว่าความที่ศาลต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จะได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทางภาคเหนือหลายแห่ง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความและผู้จัดการฝ่ายกฎหมายรวมทั้งกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวอยู่ด้วย ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นำสืบว่า ในเดือนตุลาคม 2555 เมื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เข้าไปที่บริษัทฯ พบใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 วางอยู่บนโต๊ะทำงาน จึงสอบถามผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ว่านำสำเนาใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มาทำอะไร พร้อมกับสั่งห้ามมิให้บุคคลใดนำสำเนาใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ดังกล่าวไปดำเนินการใด ๆ ก็ขัดกับคำเบิกความของนายธวัชชัย หัวหน้าส่วนติดตามและเร่งรัดหนี้สินธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ที่เบิกความว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีชื่อเป็นทนายความที่บริษัทฯ ส่งไปยังธนาคารจนถึงปี 2557 การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความของบริษัทฯ ลาออกไปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้จัดการฝ่ายกฎหมายและเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ย่อมต้องทราบเรื่องดี ควรที่จะคัดชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ออกจากการเป็นทนายความที่มีคุณสมบัติเป็นทนายความของธนาคาร แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 กลับเพิกเฉยไม่แจ้งให้ธนาคารทราบจึงเป็นข้อพิรุธ และคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ว่า ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ลาออกจากบริษัท ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความยังไม่ครบ 2 ปี แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความและให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้กระทำเช่นนั้นตลอดมาจนกระทั่งใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 หมดอายุ แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะเบิกความต่อไปว่า เป็นผู้แก้ไขปีหมดอายุ ในสำเนาใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ด้วยตนเอง ไม่ได้ปรึกษาผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แต่การยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ผบ.2493/2556 ของศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็ทราบดีว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความแต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มิได้โต้แย้ง นอกจากนี้ ยังได้ความจากสิบเอกหญิงแสงเดือน ซึ่งเคยเป็นทนายความและผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ พยานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ว่าเมื่อบริษัทฯ รับคดีมาจากธนาคาร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จะเป็นผู้จ่ายคดีให้แก่ทนายความในบริษัทฯ ทนายความแต่ละคนจะต้องเสนอสำนวนให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ตรวจ แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จะรวบรวมสำเนาคำฟ้องแต่ละคดีนำเสนอขอเบิกค่าใช้จ่าย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปใช้ก่อนเกิดเหตุประมาณ 200 คดี แม้ช่วงปี 2553 ถึงปี 2556 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จะไปดูแลกิจการในเครือของบริษัทที่ภาคเหนือ แต่ในปี 2556 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ก็กลับมาดูแลกิจการของบริษัทบ่อยขึ้น แม้สิบเอกหญิงแสงเดือนเป็นพยานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 แต่ก็เป็นพยานคนกลาง ส่วนคำเบิกความของ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แม้จะเป็นคำซัดทอดว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้ตนกระทำความผิด แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็รับว่าตนเองร่วมกระทำความผิดด้วย จึงไม่ใช่คำซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด เมื่อพิจารณาประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่นำใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปใช้เป็นจำนวนมากถึง 200 คดี เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงทนายความประจำบริษัทที่เพิ่งได้รับอนุญาตให้เป็นทนายความไม่นานนักย่อมมีประสบการณ์การทำงานน้อย โดยลำพังเพียงคนเดียวย่อมไม่กล้ากระทำไปโดยพลการ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่แสดงให้เห็นในการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบคำซัดทอดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ฟ้องคดีหลังจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ลาออกจากบริษัทไปแล้วตลอดมาจนกระทั่งใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 หมดอายุ จึงมีการแก้ไขปีหมดอายุ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดฐานของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ย่อมต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าวด้วย จึงเป็นความผิดร่วมกันละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตาม แม้ทางไต่สวนจะได้ความว่า ขณะเกิดเหตุผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพิ่งได้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความไม่นานนัก กระทำความผิดไปตามคำสั่งของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เรียนจบกฎหมาย ก่อนจะได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความต้องผ่านการฝึกอบรมในด้านจริยธรรมมาแล้ว สภาทนายความจึงออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความให้ ย่อมรู้หรือควรรู้ว่าสิ่งที่ตนกระทำไปนั้นไม่สมควรกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทางไต่สวนยังได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำใบอนุญาตให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไปใช้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลมากถึง 200 กว่าคดี แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กระทำความผิดไปโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษให้ พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้รอการลงโทษ และฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ว่า ตนไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ขอให้พิพากษายกข้อกล่าวหานั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดทางละเมิดอำนาจศาลนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า เป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คือ ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ใช้ชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นทนายความและให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความเป็นชื่อของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้กระทำเช่นนั้นในบริเวณศาลด้วย อันจะถือว่าเป็นตัวการ แต่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 และมาตรา 84 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8