แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม หากทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ย่อมไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจและบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติคือ ป.วิ.พ. มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้นได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลัก คือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2559)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 ให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 128,074.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 94,971.36 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท จำเลยจะนำเงินทั้งหมดมาชำระแก่โจทก์ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หากผิดสัญญายอมให้โจทก์ยึดที่ดินที่จำนองโฉนดเลขที่ 7572 ตำบลโพนบก อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากยังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ครั้นวันที่ 21 สิงหาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2546 โดยประเมินราคาไว้เป็นเงิน 222,000 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6792, 6801, 6791 ตำบลโพนบก อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม และที่ดินโฉนดเลขที่ 10742 ตำบลนาขมิ้น อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ของจำเลย ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและขอให้บังคับจำนอง คู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 ใจความว่า จำเลยยอมชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 128,074.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 94,971.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความ จำเลยจะนำเงินทั้งหมดมาชำระแก่โจทก์ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 หากผิดสัญญายอมให้โจทก์ยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากยังไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด ต่อมาจำเลยผิดนัดและมีการยึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด แต่ยังขายทอดตลาดไม่ได้ โจทก์ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยอีก ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ 10 พฤศจิกายน 2543 วันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ดังนี้ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงตามคำร้องฉบับลงวันที่ 30 กันยายน 2553 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดรวมทั้งสิ้น 48 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 แต่ไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพื่อซื้อทรัพย์สินจำนองเพราะเห็นว่าราคาประเมินที่ดินสูงกว่าความเป็นจริง ก็จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่ขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองยังไม่ได้โดยมิใช่ความผิดของจำเลย หรือเพราะมีบุคคลภายนอกยื่นคำร้องขอให้ปล่อยการยึดทรัพย์สินจำนองดังกล่าวทำให้ศาลจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องและมีคำสั่ง อันจะพึงเป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 วรรคหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น โจทก์มีสิทธิที่จะซื้อทอดตลาดทรัพย์สินจำนอง และหากซื้อได้ในราคาต่ำกว่าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้อีก แต่โจทก์หาได้ใช้สิทธิในการเข้าซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการมาแล้วถึง 48 ครั้ง ภายในกำหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2543 ไม่ จะเห็นได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินจำนวน 100,000 บาท จากโจทก์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาจำเลยค้างชำระ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2543 ขณะนั้นยอดหนี้ตามฟ้องคือเงินต้น 94,971.36 บาท ดอกเบี้ยค้างชำระ 33,102.98 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 128,074.34 บาท ครั้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2543 ศาลมีคำพิพากษาตามยอมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จนกระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2546 ล่วงเลยเวลานับแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมถึง 3 ปีเศษ โจทก์จึงร้องขอให้บังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาดตลอดมารวม 48 ครั้ง ก็ยังขายไม่ได้ โดยเหตุที่โจทก์กล่าวอ้างในคำร้องก็คือเพราะราคาประเมินทรัพย์สินจำนองตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ คือ ที่ดิน 72,000 บาท และสิ่งปลูกสร้าง 150,000 บาท รวม 222,000 บาท สูงกว่าความเป็นจริง เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ขัดแย้งต่อเหตุผล เพราะโจทก์เป็นสถาบันการเงินและเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันทั่วไปว่า ในการประกอบธุรกิจให้ลูกค้ากู้เงินโดยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนองเป็นประกันนั้น โจทก์ย่อมมิให้ลูกค้ากู้เงินในจำนวนสูงกว่าราคาประเมินหลักทรัพย์ประกันซึ่งโจทก์เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับราคาประเมินอยู่แล้ว ตลอดจนการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเข้าประมูลซื้อทรัพย์สินจำนองเสียเอง จนเวลาล่วงเลยมาใกล้จะครบสิบปีในการที่จะบังคับคดีได้คือวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ก็เป็นเหตุให้ยอดหนี้จากขณะศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คือ 128,074.34 บาท เพิ่มเป็น 262,718.51 บาท มากขึ้นเกินกว่าเท่าตัว จริงอยู่ การที่เข้าประมูลซื้อทรัพย์สินจำนองจากการขายทอดตลาดหรือไม่เป็นสิทธิของโจทก์ แต่หากโจทก์ไม่ใช้สิทธิทำให้ทรัพย์สินจำนองยังขายมิได้ โจทก์ก็ยังไม่อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลย เนื่องจากขัดต่อขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอม ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันโดยสมัครใจย่อมต้องบังคับต่อกันได้ โดยความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและชอบด้วยกฎหมายสารบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 ซึ่งกฎหมายวิธีสบัญญัติ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ก็ให้ศาลพิพากษาไปตามข้อตกลงนั้น ได้บัญญัติรับรองไว้ ดังนี้ การบังคับคดีจึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ซึ่งเป็นบทมาตราหลักคือต้องบังคับคดีตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษา นอกจากนี้ โจทก์ก็ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิเข้าประมูลซื้อทรัพย์สินจำนองในราคา 80,000 บาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมชี้ชัดว่าโจทก์สามารถเข้าประมูลซื้อทรัพย์สินดังกล่าวได้แต่แรกแล้ว ฉะนั้น จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จึงชอบที่ศาลพึงวินิจฉัยให้การบังคับคดีเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาตามยอมซึ่งผูกพันคู่ความตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ คำพิพากษาฎีกาที่ 1452/2524 และคำพิพากษาฎีกาที่ 6485/2552 ซึ่งโจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ประเด็นและข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้