คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบตามฟ้อง โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อความใดปรากฏอยู่บ้าง ย่อมรับฟังไม่ได้ว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. เป็นเอกสาร จึงลงโทษจำเลยฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นโต้เถียงในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม.ไปจากผู้เสียหายแล้วนำบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงิน ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม
การที่จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปเป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
บัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ ที่จำเลยลักไป เป็นบัตรต่างธนาคารกัน และเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำของจำเลยที่ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายดังกล่าวลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกัน แม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้เอาไปเสียซึ่งบัตรถอนเงินสด (บัตร เอ.ที.เอ็ม.) อันเป็นเอกสารสิทธิซึ่งธนาคารกรุงเทพ จำกัด และธนาคารทหารไทย จำกัด ออกให้แก่นายสุนทรบุนนาค ผู้เสียหาย รวม 2 ใบ มูลค่ารวม 200 บาท ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ธนาคารทหารไทย จำกัด และผู้เสียหายหรือประชาชน ต่อมาในวันเดียวกันและในวันที่ 28 มกราคม 2539 เวลากลางวันจำเลยนำบัตร เอ.ที.เอ็ม.ที่เอาไปดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม11 ครั้ง เป็นเงินรวม 97,300 บาท ไปเป็นของตนโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 334, 91 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน97,500 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188,334 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไป จำคุก 2 ปี ฐานลักทรัพย์ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 8 ปี ให้จำเลยคืนบัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ หรือใช้เงิน 200 บาท และคืนเงิน 97,300 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ในการบังคับคดีไม่จำต้องดำเนินการบังคับให้จำเลยต้องคืนบัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ เสียก่อน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ระหว่างที่นายสุนทร บุนนาค ผู้เสียหายเข้าพักรักษาตัวที่ห้องพักผู้ป่วยของโรงพยาบาลพญาไท 2 จำเลยได้เอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายพร้อมด้วยรหัสของบัตรซึ่งอยู่ในกระเป๋าสตางค์และเก็บไว้ในห้องพักผู้ป่วยไป แล้วจำเลยใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. ทั้ง 2 ใบ ดังกล่าวถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติจำนวน 11 ครั้ง เป็นเงินรวม 97,300 บาท และธนาคารได้ตัดยอดเงินดังกล่าวจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายแล้ว

จำเลยฎีกาประการแรกว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ดังกล่าว โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีข้อความใดปรากฏอยู่บ้าง ย่อมรับฟังไม่ได้ว่าบัตร เอ.ที.เอ็ม. เป็นเอกสาร จึงลงโทษจำเลยฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ไม่ได้ เห็นว่าจำเลยมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นโต้เถียงในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่างทั้งสอง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า การลักบัตร เอ.ที.เอ็ม.แล้วจำเลยใช้บัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายทั้ง 2 ใบ ไปลักเอาเงินสดของผู้เสียหายเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไปจากผู้เสียหาย แล้วนำบัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายดังกล่าวไปลักเอาเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินนั้น ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ การลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม. ไป กับการลักเงินจึงเป็นความผิดหลายกรรม

ส่วนฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยมีเจตนาแต่เพียงจะลักเงินของผู้เสียหาย การลักบัตร เอ.ที.เอ็ม. ก็เพื่อลักเงินจึงต้องลงโทษฐานลักบัตร เอ.ที.เอ็ม. เพียงกรรมเดียว เมื่อเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นเห็นว่า การที่จำเลยลักเอาบัตร เอ.ที.เอ็ม.ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นความผิดทั้งฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น ตามมาตรา 188มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท จึงเป็นบทที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่ง มาตรา 334 ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 188 สำหรับความผิดที่จำเลยเอาบัตรเอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหายไปจึงชอบแล้ว

ส่วนการที่จำเลยนำบัตร เอ.ที.เอ็ม. จำนวน 2 ใบ ของผู้เสียหายไปลักเอาเงินโดยถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติจำนวน 11 ครั้งจะเป็นความผิดกรรมเดียวดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ เห็นว่า บัตร เอ.ที.เอ็ม. ของผู้เสียหาย 2 ใบ นี้เป็นบัตรต่างธนาคารกันและเงินฝากของผู้เสียหายที่ถูกลักไปก็เป็นเงินฝากในบัญชีต่างธนาคารกันด้วย เจตนาในการกระทำผิดของจำเลยจึงแยกจากกันได้ตามความมุ่งหมายในการใช้บัตรแต่ละใบ การกระทำของจำเลยที่ใช้บัตร เอ.ที.เอ็ม. 2 ใบ ของผู้เสียหายลักเอาเงินฝากของผู้เสียหายต่างบัญชีกันแม้จะทำต่อเนื่องกันก็เป็นความผิดสองกรรม และเห็นว่ากรณีไม่สมควรรอการลงโทษให้

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมกับโทษความผิดฐานเอาเอกสารของผู้อื่นไปที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ 2 ปีเป็นจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share