คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา ม.352 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดยิ่งกว่ากฎหมายลักษณะอาญา มาตรา314 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท เพราะอาจลงโทษได้สามสถาน

ย่อยาว

จำเลยถูกฟ้องตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 3, 4, 319 และมาตราอื่น ๆ อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในเวลากระทำผิด ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 12 เดือน ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 319, 118 ศาลอุทธรณ์แก้เป็นปรับ 500 บาท ตาม มาตรา 118 กะทงเดียว โจทก์ฎีกาคดีมาถึงศาลฎีกา เมื่อใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยมีความผิดฐานยักยอก ในการวางบทลงโทษจำเลย ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้ ฯลฯ “เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยมาเป็นการสมควรแก่ความผิดแล้ว แต่เนื่องจากบัดนี้ประมวลกฎหมายอาญาออกใช้บังคับซึ่งตาม มาตรา 352 ฐานยักยอกทรัพย์ให้ระวางโทษจำคุก 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 314 ซึ่งใช้อยู่ในขณะกระทำผิดให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และให้ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ถือว่าในความผิดฐานยักยอกทรัพย์นี้ตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดมากกว่าเพราะให้ระวางโทษได้สามสถาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลัง กระทำผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด

อาศัยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ให้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 เป็นบทลงโทษแทน”

Share