แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 ที่จองซื้อไว้ตามที่กรรมการโจทก์เรียกร้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหุ้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จองซื้อไว้โดยไม่จำต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์จัดประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยในเรื่องนี้เพราะบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่จะจัดให้มีการการจัดประชุมใหญ่เสียก่อนจึงจะชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมตามที่โจทก์เรียกร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการประชุมใหญ่ของโจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นในลักษณะการลงมติมิให้โจทก์เรียกเก็บค่าหุ้นเพิ่มเติม ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดค่าหุ้นเพิ่มเติมรวมทั้งดอกเบี้ย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 491,940.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 484,376.33 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,902,800.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,842,789.83 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 543,188.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 534,836.63 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน442,277.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 435,477.38 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินค่าขายทอดตลาด 67,825.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 491,940.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 484,376.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 3,902,800.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,842,789.83 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 543,188.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 534,836.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 442,277.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 435,477.38 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าหุ้นเพิ่มเติมอีกร้อยละ 75 ของหุ้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จองซื้อไว้หรือไม่ และหากโจทก์มีสิทธิเรียกค่าหุ้นเพิ่มเติม จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดชำระค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมอีกร้อยละ 75 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เห็นว่าโจทก์หยุดการดำเนินการและไม่ขยายกิจการจึงยื่นคำร้องขอให้โจทก์เปิดประชุมใหญ่วิสามัญก่อนเพื่อโต้แย้งโจทก์ในเรื่องการเรียกค่าหุ้นว่ายังมีเหตุไม่สมควรเรียกค่าหุ้นเพิ่มเติมแต่โจทก์ริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2549 ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ของโจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 จึงเป็นการริบหุ้นที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 บัญญัติว่า บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้นกรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าโจทก์ย่อมมีสิทธิในการเรียกค่าหุ้นเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้ชำระค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 ตามที่กรรมการของโจทก์เรียกร้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมตามที่โจทก์เรียกร้อง โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหุ้นที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จองซื้อไว้โดยโจทก์ไม่จำต้องรอให้ที่ประชุมใหญ่ของโจทก์จัดประชุมใหญ่เพื่อวินิจฉัยในเรื่องนี้เพราะบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้สิทธิของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่จะให้มีการจัดให้มีการจัดประชุมใหญ่เสียก่อนจึงจะชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมตามที่โจทก์เรียกร้อง นอกจากนี้ยังปรากฏตามรายงานการประชุมใหญ่ของโจทก์ในวันที่ 25 สิงหาคม 2549 ก็ไม่ปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่นในลักษณะการลงมติมิให้โจทก์เรียกเก็บค่าหุ้นเพิ่มเติม ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอด ตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดค่าหุ้นเพิ่มเติม พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชอบนั้นโดยไม่มีการขายทอดตลาดโดยเปิดเผย และทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ทราบ จึงไม่มีโอกาสเข้าสู้ราคาหรือหาบุคคลเข้าสู้ราคาและมีผู้เข้าสู้ราคาการขายทอดตลาดเพียง 3 ราย ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกับกรรมการโจทก์และซื้อในราคาต่ำเกินสมควรเป็นการฉ้อฉลไม่สุจริตนั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาวอรุณรัตน์ กรรมการของโจทก์เบิกความว่า หลังจากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นำเงินค่าหุ้นอีกร้อยละ 75 มาชำระแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยดังกล่าวไม่ชำระและโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขอริบหุ้นดังกล่าวแล้วต่อมาจึงนำหุ้นที่ริบขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2549 ปรากฏว่ามีผู้เข้าประมูลและซื้อจากการขายทอดตลาดไปในราคาหุ้นละ 5 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายธัชพงศ์ ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่บริษัทเอฟบีแอลพี ลีกัล จำกัด เบิกความว่าบริษัทเอฟบีแอลพี ลีกัล จำกัด รับจ้างโจทก์เป็นผู้ขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในการขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวบริษัทของพยานได้แจ้งประกาศการขายทอดตลาดผ่านหนังสือพิมพ์สายกลางฉบับลงวันที่ 5 ถึง 7 กันยายน 2549 และยังแจ้งวันขายทอดตลาดไปที่สารวัตรแผนกควบคุมโรงรับจำนำและค้าของเก่า ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันขายทอดตลาดหุ้นดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และมีผู้ประมูลหุ้นได้ในราคาสูงสุดหุ้นละ 5 บาท แล้วจึงแจ้งผลการขายทอดตลาดให้โจทก์ทราบ บริษัทของพยานคิดค่าจ้างการประมูลเป็นรายชั่วโมง คิดชั่วโมงละ 4,500 บาท ส่วนฝ่ายจำเลยมีนายวงษ์ชัย กรรมการของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความโต้แย้งว่าในการขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นั้น โจทก์หรือบริษัทผู้ประมูลขายทอดตลาดหุ้นมิได้แจ้งเรื่องการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ทราบโดยตรงและผู้ที่เข้าซื้อหุ้นจากการขายทอดตลาดคือนายบัณฑูร นางนันทนา และบริษัท ไซแอมสตาร์ จำกัด ซึ่งนายบัณฑูรและนางนันทนาก็เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทดังกล่าวด้วย และเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับกรรมการโจทก์โดยนายบัณฑูรเป็นผู้จัดการของบริษัทอาร์.เค.นิจิโกะ จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์เป็นคู่สัญญากับโจทก์และบริษัทดังกล่าวยังค้างชำระหนี้กับโจทก์จนถูกโจทก์ฟ้องคดีแพ่งเป็นลูกหนี้แต่โจทก์ก็มิได้บังคับคดีแต่อย่างใด การซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จากการขายทอดตลาดจึงเป็นการซื้อโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมร้อยละ 75 ตามที่โจทก์เรียกให้ชำระค่าหุ้นที่ยังขาดอยู่เพิ่มขึ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ออกขายทอดตลาด โดยโจทก์มีนายธัชพงศ์ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทเอฟบีแอลพี ลีกัล จำกัด ซึ่งรับจ้างโจทก์ขายทอดตลาดหุ้นมาเบิกความสนับสนุนทั้งนายธัชพงศ์ยังเบิกความว่า ได้มีการแจ้งประกาศการขายทอดตลาดหุ้นผ่านหนังสือพิมพ์สายกลางและยังแจ้งการขายทอดตลาดให้สารวัตรแผนกควบคุมโรงรับจำนำและค้าของเก่าทราบแล้ว กรณีจึงถือว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบ การนำสืบต่อสู้ของพยานจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่สุจริตและปกปิดการขายทอดตลาดนั้นจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าการขายทอดตลาดหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นไปโดยชอบและสุจริต และมิได้มีการปกปิดการขายทอดตลาด ทั้งผู้เข้าซื้อหุ้นจากการทอดตลาดก็มิได้มีคุณสมบัติหรือพฤติการณ์เข้าทอดตลาดโดยไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในค่าหุ้นที่ขาดและต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ผิดนัด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ