คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินเป็นของ ว. มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านทางพิพาทเท่านั้น ว.ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนแก่ส.ส.ได้ใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะเช่นกันแต่ ส. เพิ่งจะสามารถออกทางสาธารณะโดยผ่านทางอื่นในภายหลัง ต่อมา ว.ขายที่ดินส่วนที่เหลือให้โจทก์ โจทก์ก็ชอบใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะได้ต่อไป โดยไม่จำต้องผ่านที่ดินของ ส. เพื่อออกสู่ทางสาธารณะทางอื่นเนื่องจากขณะที่ ว. แบ่งขายที่ดินบางส่วนให้ ส. ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นถนนและแท่นซีเมนต์บนถนนพิพาทออกไป ให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 11284 ส่วนที่ถนนตัดผ่านตามเนื้อที่ในกรอบเส้นแดงที่แผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 ตำบลวัดท่าพระ (เกาะท่าพระ)อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรี)ของโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน7,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่ฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายวันละ 1,480 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นกีดขวางบนถนนสายภาระจำยอมพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินวันละ1,480 บาททุกวันให้แก่โจทก์จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปเรียบร้อย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าที่ดินตามฟ้องไม่ตกเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นแต่เป็นทางสงวนสิทธิไม่ใช่ทางสาธารณะ จำเลยที่ 1ปิดกั้นทางพิพาทจริงแต่จำเลยที่ 1 เว้นเป็นทางเดินกว้างประมาณ1 เมตร จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดหากโจทก์ได้รับความเสียหายก็ไม่เกินวันละ 50 บาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์บรรยายฟ้องไม่แจ้งชัดว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินตามฟ้องไม่เกี่ยวกับทางเดินหรือทางรถยนต์เข้าออก จำเลยที่ 2 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11284 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ปิดกั้นถนนตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกินวันละ100 บาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือทางจำเป็นไม่ชัดเจน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นถนนและร่วมกันรื้อถอนแท่นซีเมนต์บนถนนที่ตัดผ่านที่ดินของโจทก์ในโฉนดเลขที่ 11283 11284 ตำบลวัดท่าพระ(เกาะท่าพระ)อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี (ธนบุรี) คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า ทางพิพาทซึ่งรวมถึงแท่นซีเมนต์ตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นทางจำเป็นหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่11282 ซึ่งเป็นที่ดินของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 กับที่ดินโฉนดเลขที่11283 และ 11284 เป็นที่ดินที่แยกออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15ซึ่งนายริ้ว ยาไทย เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมได้แบ่งแยกให้แก่บุตรคนละแปลงเฉพาะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 11282 นายริ้วจดทะเบียนโอนให้แก่นายวีระ ยาไทยผู้เป็นบุตรเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2519และต่อมานายวีระได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2523 รายละเอียดปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่11283 และ 11284 ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไปเป็นของนางสาวนงลักษณ์ วิรุฬน์ธนวงศ์ และของจำเลยที่ 1 ตามลำดับปรากฏตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ เอกสารหมาย จ.3เกี่ยวกับทางพิพาทนี้ โจทก์มีนายไล่เต็ก แซ่ลิ้ม ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และนายวีระเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 เดิมเบิกความทำนองเดียวกันว่าทางพิพาทมีมานานแล้ว เดิมทางดังกล่าวมีสภาพเป็นถนนบางส่วน และเป็นลำประโดงบางส่วน ต่อมาเมื่อปี 2512 ได้มีการถมลำประโดง ปรับปรุงเป็นถนนกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 70 เมตร หลังจากปรับปรุงเป็นถนนแล้วทางพิพาทก็เป็นทางสายเดียวที่ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกนั้นใช้เป็นทางเดินและใช้รถยนต์เป็นพาหนะแล่นออกสู่ซอยวัดสังข์กระจายไปสู่ถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นถนนสาธารณะได้นอกจากนี้โจทก์ยังมีตัวโจทก์ นายสมชาย วีระวงศ์ชัย สามีโจทก์นางสาววาณี วีระวงศ์ชัย บุตรสาวโจทก์ นางมณี บุญเสริมวิชากับนายสงกา มนทา ซึ่งเคยเช่าบ้านอยู่ในซอยทางพิพาทและนายธีระยุทธ ผลาขจรศักดิ์ ผู้เคยค้าขายน้ำมันหล่อลื่นให้แก่นางมณีเบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนคำเบิกความของนายไล่เต็กและนายวีระว่า ขณะที่พยานโจทก์เข้าไปอยู่หรือเข้าไปติดต่อค้าขายกับนางมณี ทางพิพาทเป็นทางสายเดียวเท่านั้นที่สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ รอบทางพิพาทด้านอื่นเป็นกำแพงและเป็นที่ดินของคนอื่นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้อีก นอกจากพยานบุคคลดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3และแผนที่เอกสารหมาย จ.3 เป็นพยานเอกสารสนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินด้านท้ายซอยทางพิพาทแปลงสุดท้ายที่ไม่มีทางอื่นออกสู่ถนนสาธารณะได้ จากข้อนำสืบของโจทก์จะเห็นได้ว่าทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารบ่งบอกว่าที่ดินของโจทก์ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11282 ซึ่งอยู่ท้ายซอยสุดของทางพิพาทถูกที่ดินแปลงอื่นของบุคคลอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เว้นเสียแต่จะผ่านไปตามทางพิพาทเพื่อออกสู่ซอยวัดสังข์กระจายและถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะเพียงทางเดียว ฉะนั้น โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคแรกศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นทางจำเป็นสำหรับโจทก์ผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิปิดกั้น หรือก่อแท่นซีเมนต์ตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 หรือแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งข้อเท็จจริงฟังยุติตามข้อวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองแล้วว่าจำเลยที่ 2 สร้างแท่นซีเมนต์บนทางพิพาทกีดขวางทางเข้าออกของโจทก์ เทียบเคียงได้กับคำพิพากษาฎีกาที่ 3261/2527 ระหว่างนายสมชาย สุขทวี โจทก์พระภิกษุสมาน สมบูรณ์จริง กับพวก จำเลย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็นสำหรับโจทก์เพราะที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินของนายสุรศักดิ์ พิทักษ์เกียรติกุล ซึ่งทางทิศใต้อยู่ติดกับถนนจำเนียรสุข 3 เชื่อมต่อกับถนนเพชรเกษมอันเป็นทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินของนายสุรศักดิ์ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 ไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้นั้นเห็นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 11282 เอกสารหมาย จ.2 แบ่งแยกมาจากที่ดินของนายริ้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15 นายริ้วยกที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ให้นายวีระบุตรของนายริ้ว นายวีระเพิ่งจะแบ่งขายที่ดินที่ได้รับการยกให้บางส่วน ให้แก่นายสุรศักดิ์ในปี2520 คงเหลือที่ดิน 145 ตารางวา ด้านที่ติดทางพิพาทซึ่งขณะที่นายวีระแบ่งที่ดินขายให้แก่นายสุรศักดิ์ทางพิพาทจากที่ดินส่วนที่เหลืออยู่นี้มีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายอยู่ก่อนแล้ว และขณะนั้นที่ดินของนายสุรศักดิ์ไม่ได้เชื่อมต่อกับถนนจำเนียรสุข 3 นายสุรศักดิ์จะต้องอาศัยทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายเพียงทางเดียวมาก่อนนายสุรศักดิ์เพิ่งจะสามารถออกสู่ถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นทางสาธารณะด้านถนนจำเนียรสุข 3 ได้ในภายหลัง ฉะนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ตามโฉนดที่ดินเลขที่11282 มาจากนายวีระในปี 2523 ในขณะที่ทางพิพาทมีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ก็ชอบที่จะใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นออกสู่ทางสาธารณะด้านซอยวัดสังข์กระจายไปยังถนนเพชรเกษมต่อไปได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่นายสุรศักดิ์ด้วยการให้นายสุรศักดิ์ทุบกำแพงซึ่งกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์และของนายสุรศักดิ์ตามแผนที่เอกสารหมาย ล.1 เพื่อให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะด้านถนนจำเนียรสุข 3 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เพราะการที่นายวีระแบ่งแยกที่ดินบางส่วนขายให้นายสุรศักดิ์ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินส่วนที่เหลือออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นสำหรับโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…”พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share