แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมจะต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งหมด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จากต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยให้คิดจากต้นเงิน 200,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ฎีกาคัดค้านในเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก่อนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องข้อหาจำเลยผิดสัญญากู้เงิน โดยยกข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้อง (เอกสารหมาย จ.1) แล้วผิดสัญญาไม่ยอมชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ในวันที่ 1 มกราคม 2538 จำนวน 200,000 บาท ตามฟ้อง ความจริงจำเลยกู้เงินโจทก์เมื่อปี 2536 เพียง 20,000 บาท จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความ และโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวมากรอกข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้องเอง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามคำให้การของจำเลยดังกล่าว เท่ากับจำเลยยอมรับว่าลายมือชื่อของจำเลยในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารท้ายฟ้อง (เอกสารหมาย จ.1) เป็นลายมือชื่อของจำเลยจริง แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินทั้งหมดอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายกรอกข้อความเอาเอง เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 200,000 บาท จริงตามฟ้อง การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จริง แต่เป็นการลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า โจทก์ไปกรอกข้อความเอาเองในภายหลัง กับยืนยันว่าได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง 20,000 บาท และอ้างเหตุผลว่าคำเบิกความของโจทก์มิได้ยืนยันว่าจำเลยได้รับเงินไปจำนวน 200,000 บาท จึงต้องฟังว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง 20,000 บาท เท่านั้น อีกทั้งสัญญากู้เงินทำให้วันที่ 1 มกราคม 2538 โจทก์เป็นเพียงชาวสวน เงินจำนวน 200,000 บาทดังกล่าว โจทก์ต้องไปเบิกจากธนาคาร แต่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคารต่อเนื่องกันหลายวัน เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าจะกู้ยืมเงินกันถึง 200,000 บาท จำเลยมีอาชีพทำนาไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากถึง 200,000 บาท และเดิมก็เคยกู้ยืมเงินกันเพียงครั้งละ 10,000 บาท ถึง 20,000 บาท เท่านั้น เพื่อนำมาประกอบอาชีพเกษตร เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเท่ากับจำเลยได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยจำเลยได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวโดยชัดแจ้งและเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย อุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ว่าในชั้นพิจารณาจำเลยจะได้นำสืบพยานหลักฐานแตกต่างขัดแย้งกับที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้บ้าง ซึ่งอาจเป็นการสืบนอกประเด็นตามคำให้การดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยก็ตาม แต่ก็หามีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้ว อันจะไม่ชอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ของจำเลยเช่นว่านั้นไปเสียทีเดียว โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยก่อนตามลำดับชั้นศาลแต่อย่างใด
สำหรับประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างหน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้จึงตกอยู่แก่โจทก์ แต่พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบต่อศาลนั้น โจทก์คงมีแต่เพียงตัวโจทก์มาเบิกความรับรองหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น นางลัดดาที่ลงนามเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่าเป็นบุตรสาวของโจทก์นั้นโจทก์ก็หาได้นำมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลไม่ แม้กระทั่งนายจำลองซึ่งโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าเป็นบุตรของโจทก์และเป็นผู้เขียนกรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้เงิน โจทก์ก็มิได้นำมาเป็นพยานเบิกความต่อศาลเช่นกัน ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องรู้เห็นในการทำหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ล้วนแต่เป็นบุตรซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ แต่โจทก์กลับไม่นำบุคคลเหล่านี้มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเพื่อให้โอกาสจำเลยได้ถามค้านเพื่อจับพิรุธหรือทำลายน้ำหนักของพยานหลักฐานโจทก์ การที่มีเพียงตัวโจทก์มาเบิกความรับรองเอกสารหนังสือสัญญากู้เงินเพียงคนเดียวเช่นนี้ นอกจากศาลจะต้องรับฟังคำเบิกความของโจทก์อย่างระมัดระวังแล้วยังส่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์เองน่าจะยังมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยว่าจะมีข้อเท็จจริงบางประการที่ปกปิดซ่อนเร้น ไม่กล้าเผชิญต่อความจริงอยู่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบต่อศาลนั้นมีข้อพิรุธไม่อาจรับฟังเชื่อถือได้อย่างสนิทใจ และข้อพิรุธสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ก่อนกู้ยืมเงินโจทก์ในคดีนี้ จำเลยเคยกู้ยืมเงินจากภริยาโจทก์เมื่อปี 2536 หรือ 2537 โจทก์ไม่แน่ใจและเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันภริยาจำเลยก็ยังเป็นหนี้ภริยาโจทก์อยู่ อันเป็นข้อบ่งชี้ชัดแจ้งว่าขณะที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินตามฟ้อง จำเลยและภริยาจำเลยยังมีหนี้เงินกู้ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จึงทำให้มีพิรุธน่าสงสัยว่าเมื่อหนี้ที่ค้างเก่าอยู่ยังชำระไม่ครบถ้วน ย่อมไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินอีกเป็นจำนวนมากถึง 200,000 บาท และในประการสำคัญ คือ โจทก์เบิกความยอมรับต่อคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่า ที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 6 ไร่เศษตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 จำเลยได้จำนองไว้แก่ภริยาโจทก์ ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 แล้ว ปรากฏว่า คือ ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1880 ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ระบุในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ว่าเป็นที่ดินที่จำเลยนำมาให้โจทก์ยึดไว้เป็นหลักประกันด้วย ซึ่งความข้อนี้แม้โจทก์จะเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า ก่อนกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จำเลยได้กู้ยืมเงินภริยาโจทก์โดยนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันตามเอกสารหมาย ล.1 ภายหลังต่อมาจำเลยต้องการเงินซื้อรถยนต์จึงมาขอกู้ยืมเงินเพิ่มโดยจะจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเพิ่มวงเงินจำนอง แต่เนื่องจากระหว่างนั้นภริยาโจทก์ไม่อยู่ โจทก์จึงให้จำเลยกู้ยืมเงินไปแทนและไม่ได้จดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองอันเป็นการตอบคำถามติงเพื่อพยายามอธิบายถึงเหตุผลเกี่ยวกับหลักประกันของการกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ว่า โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินโดยมีหลักประกัน แต่ศาลฎีกากลับเห็นว่าคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวยิ่งกลับส่อข้อพิรุธมากขึ้นเพราะเมื่อได้ตรวจดูหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่านางอำภาภริยาจำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1880 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่นางเอี่ยมภริยาโจทก์ผู้รับจำนองเพียง 130,000 บาท เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้เงินกู้เพียง 130,000 บาท ฝ่ายโจทก์ยังต้องการหลักประกันถึงขนาดต้องมีการนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกัน จึงเป็นการขัดต่อเหตุผลอย่างยิ่งที่ฝ่ายโจทก์จะยอมให้จำเลยกู้ยืมเงินตามฟ้องคดีนี้เพิ่มอีกเป็นจำนวนมากขึ้นถึง 200,000 บาท โดยเพียงแต่เขียนระบุข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ว่า จำเลยผู้กู้ได้นำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แปลงดังกล่าวมาให้โจทก์ผู้ให้กู้ยืมไว้เป็นหลักประกันเท่านั้น โดยหาได้มีการจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองไม่ จึงเป็นข้อพิรุธน่าสงสัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า โจทก์ได้ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 จริง ดังที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาหรือไม่ แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีกลับมีเหตุผลให้น่าเชื่อตามข้อนำสืบของจำเลยว่าแท้จริงแล้วจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์อยู่เพียง 20,000 บาท ซึ่งจำเลยกู้ยืมเงินดังกล่าวจากโจทก์ไปเมื่อปี 2536 โดยจำเลยผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 โดยยังไม่มีการกรอกข้อความและจำนวนเงินที่กู้ ดังนั้น การที่โจทก์กรอกข้อความลงในหนังสือสัญญากู้เงินระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ถึง 200,000 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยกู้ยืมจริงเพียง 20,000 บาท หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้จึงเป็นเอกสารปลอมไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนที่จำเลยให้การและเบิกความยอมรับว่ายังค้างชำระเฉพาะต้นเงิน 20,000 บาท อยู่แก่โจทก์นั้น เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่ทำกันไว้เดิมยังไม่เคยมีการกรอกจำนวนเงินที่กู้ในสัญญา แม้จำเลยจะได้ลงลายมือชื่อไว้ก็หาใช่เป็นหลักฐานเป็นหนังสือที่โจทก์จะนำมาฟ้องร้องให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่งไม่ ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเชื่อว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์จริงตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์และฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีที่จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมจะต้องอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่จะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งหมด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลยทั้งหมด