คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (11) หาใช่ ‘บุคคลอื่น’ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ไม่ จึงชอบที่จะแต่งฟ้องลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์และยื่นฟ้องได้ และการที่ผู้รับมอบอำนาจแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีหรือเกี่ยวกับอำนาจของตนต่อศาล ก็มิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่า ‘ทำการเป็นทนายความ’ หรือ ‘ว่าความ’ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 33 ดังกล่าว
ระเบียบการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยทุกฉบับอนุญาตให้ลูกจ้างสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้เพียง 2 ปีเท่านั้น จะสะสมเกินกว่านั้นมิได้ การที่โจทก์ซึ่งถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ถึง พ.ศ. 2526 จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิที่สิ้นไปหามีไม่แล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวแก่โจทก์.

ย่อยาว

คดีทั้งสิบห้าสำนวนศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งสิบห้าสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบห้าเป็นลูกจ้างจำเลยทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๙ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนให้การว่า ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์มิใช่ทนายความ ไม่มีอำนาจแต่งฟ้องตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๓ การที่ผู้รับอำนาจเรียงคำฟ้องและลงชื่อในคำฟ้อง จึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างตามระเบียบของจำเลย และการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการจ้างเพียงเมื่อโจทก์มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์เท่านั้นจึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดเองทั้งตามระเบียบของจำเลยกำหนดให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกินสองปี โจทก์ทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างดังกล่าวตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสิบห้าพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจเรียงคำฟ้องและไม่มีอำนาจแถลงต่อศาลดังที่แถลงในวันนัดพิจารณา เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติทนายความฯ ทั้งเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสิบห้าได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลยในคดีทั้งสิบห้าสำนวนดังปรากฏตามใบมอบอำนาจท้ายคำฟ้องแต่ละสำนวน เพราะฉะนั้นผู้รับมอบอำนาจจึงอยู่ในฐานะคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๑๑) หาใช่ ‘บุคคลอื่น’ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๓ ไม่ ผู้รับมอบอำนาจจึงชอบที่จะแต่งฟ้องลงชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องแทนโจทก์และยื่นฟ้องได้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย ตามแบบอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๙๔๗/๒๕๑๖ ส่วนการแถลงรับข้อเท็จจริงในวันนัดพิจารณานั้นเป็นการแถลงถึงฐานะของผู้รับมอบอำนาจว่า ตนเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยอาศัยอำนาจใด ได้กระทำการอันใด และแถลงว่าข้อเท็จจริงที่ตนทราบจากตัวความเป็นประการใด ซึ่งการแถลงเช่นว่านั้นมิใช่เป็นการกระทำที่ถือว่า ‘ทำการเป็นทนายความ’ หรือ ‘ว่าความ’ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทนายความฯ มาตรา ๓๓ ผู้รับมอบอำนาจจึงชอบที่จะกระทำได้ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายตามที่จำเลยอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งสิบห้านั้น พิเคราะห์แล้ว เรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้จำเลยส่งอ้างระเบียบต่อศาล ๓ ฉบับซึ่งแก้ไขมาโดยลำดับจนถึงฉบับที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์พ้นจากตำแหน่ง…..ระเบียบการลาหยุดพักผ่อนประจำปีของจำเลยนับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๑๓ ที่ใช้ฉบับแรกจนถึงปัจจุบันจำเลยอนุญาตให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้เพียงสองปีเท่านั้น จะสะสมเกินกว่านั้นมิได้ ที่บรรดาโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีย้อนหลังไปตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ทั้งสิบห้าฟ้องโดยอาศัยสิทธิที่สิ้นไปหามีไม่แล้ว ศาลฎีกาไม่อาจบังคับให้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสิบห้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share